xs
xsm
sm
md
lg

คนงานสิ่งทอบังกลาเทศฮือปิดถนน-โจมตีเผาโรงงาน เรียกร้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - เหล่าคนงานสิ่งทอบังกลาเทศซึ่งอยู่ในอารมณ์เดือดดาล ปิดกั้นถนน จุดไฟเผาโรงงานและปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นวันที่ 3 ในวันจันทร์(23) ในการประท้วงเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำเดือนละ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ(ราว 3,100 บาท) ที่ลุกลามอยู่รอบนอกของเมืองหลวง

อับดุล บาเตน ผู้บังคับการตำรวจของเขตอุตสาหกรรมกาซิปูร์ ใกล้กรุงธากา อันเป็นที่ตั้งของโรงงานหลายร้อยแห่งบอกกับเอเอฟพีว่ามีคนงานมากกว่า 20,000 คนเข้าร่วมชุมนุมหนล่าสุดนี้

ส่วนมุสตาฟิซูร์ ราห์มาน ผู้ช่วยของ บาเตน เสริมว่ามีโรงงานราว 300 แห่ง ซึ่งผลิตเสื้อผ้าป้อนแก่บริษัทค้าปลีกของชาติตะวันตก อาทิวอลมาร์ต ต้องปิดดำเนินการในวันจันทร์(23) ในความพยายามควบคุมเหตุรุนแรง ขณะเหล่าคนงานผู้ประท้วงยังคงเดินหน้าโจมตีโรงงานต่างๆ

"สถานการณ์ผันผวนมาก ตำรวจยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาเข้าสลายคนงานผู้ดื้อด้าน พวกคนงานพากันใช้ก้อนหินขวางปาโรงงานหลายสิบแห่ง" เขากล่าว พร้อมเสริมว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายสิบคนในนั้นมีทั้งพวกคนงานและเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เหล่าโรงงานต่างๆระบุว่าการประท้วงในวันจันทร์(23) นับเป็นเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดของภาคอุตสาหกรรมนี้นับตั้งแต่ปี 2010 โดยคราวนั้นก็เกิดการประท้วงรุนแรงต่อเนื่องหลายเดือน จนสุดท้ายรัฐบาลและเจ้าของโรงงานต้องยินยอมเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นเดือนละ 38 ดอลลาร์สหรัฐฯ(ราว1,170บาท)

คนงานสิ่งทอบังกลาเทศเป็นหนึ่งในบรรดาลูกค้าของภาคอุตสาหกรรมนี้ที่ได้ค่าแรงน้อยที่สุดในโลก โดยพวกเขาต้องทำงานหนักสัปดาห์ละ 80 ชั่งโมงในโรงงานที่ขาดมาตรฐานเสี่ยงต่อเหตุไฟไหม้และอุบัติเหตุอื่นๆ

การประท้วงเกี่ยวกับค่าจ้าง สิทธิประโยชน์และสภาพแวดล้อมการทำงานเกิดขึ้นบ่อยครั้งในบังกลาเทศ แต่ก็ทวีความรุนแรงนับตั้งแต่ดือนเมษายน หลังเกิดเหตุโรงงานแห่งหนึ่งพังถล่ม คร่าชีวิตคนงานไปกว่า 1,100 ศพ นับเป็นหนึ่งในหายนะภาคอุตาหกรรมครั้งเลวร้ายที่สุดของโลก

ชาฮิดุล อิสลาม ชาบุจ แกนนำสหภาพแรงงานซึ่งจัดการชุมนุมในช่วงวันเสาร์(21)และวันอาทิตย์(22) ขู่ว่าจะเดินหน้าประท้วงต่อจนกว่าจะได้ขึ้นค่าแรงตามคำเรียกร้อง "สิ่งที่เราร้องขอคือค่าแรงขั้นต่ำ 100 ดอลลาร์ แรงงานต้องการค่าจ้างเพิ่มขึ้นเพื่อให้พอดีแก่การดำรงชีวิต" เขาบอก

แรงงานหลายหมื่นคน จำนวนหนึ่งถือไม้และก้อนหิน ดำเนินการปิดกั้นถนนหลายสายที่มุ่งหน้าจากเมืองหลวงสู่ภูมิภาคต่างๆของประเทศทั้งทางภาคเหนือและตะวันตก ก่อความวุ่นวายแก่การจราจรนานหลายชั่วโมง "ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคขึ้นทุกชนิด แต่เงินเดือนของเราไม่เปลี่ยนแปลง" ผู้ประท้วงงรายหนึ่งบอก "เราจะไม่ออกจากถนนจนกว่าจะได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 8,000 ทากา(100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน"

ในเดือนมิถุนายน รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการทบทวนค่าจ้าง แต่เหล่าเจ้าของโรงงานปฏิเสธคำเรียกร้องของสหภาพที่ต้องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยยืนยันว่าสามารถปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นได้แค่ราวๆ 20 เปอร์เซนต์ เป็น 3,600 ทากา(ราว1,430บาท) เท่านั้น สืบเนื่องจากแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโลก

ที่เขตซาวาร์ มีโรงงานหลายสิบแห่งต้องปิดปฏิบัติการ หลังผู้ประท้วงปะทะกับตำรวจ จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บราวๆ 20 คน รองผู้บังคับการท้องถิ่นกล่าว ส่วนเรอาซ-บิน-มาห์มูด รองประธานสมาคมผู้ส่งออกและอุตสาหกรรมสิ่งทอของบังกลาเทศ องค์การซึ่งเป็นตัวแทนของโรงงาน 4,500 แห่ง เล่าว่า "คนงานโจมตีโรงงานและจุดไฟเผาโรงงานอย่างน้อยๆ 2 แห่ง โรงงานหลายร้อยแห่งต้องปิดทำการ"

นอกจากนี้แล้วยังมีรายงานว่าคนงานหลายพันคนยังบุกโจมตีค่ายกำลังพลสำรองตำรวจแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงธากา ไปทางเหนือราว 40 กิโลเมตร เป็นผลให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 3 รายและปืนไรเฟิลเสียหายไป 3 กระบอก ขณะเดียวกันเหตุความไม่สงบยังลุกลามไปยังพื้นที่เขตอุตสาหกรรมรัมปูระและเทจาออน โดยคนงานหลายพันคนปะทะกับตำรวจ ส่วนบริเวณด้านนอกของสมาคมผู้ผลิตสิ่งทอแห่งหนึ่งก็พบเห็นการประท้วงอยู่เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น