เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์- “แบล็กเบอร์รี ลิมิเต็ด” บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนชื่อดังสัญชาติแคนาดา “แบล็กเบอร์รี” มีแผนเตรียมปลดพนักงานครั้งใหญ่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ออกในเร็วๆนี้ เพื่อความอยู่รอดของบริษัท หลังจากที่ยอดขายสินค้าของบริษัทยังคงไม่เป็นไปตามเป้า และไร้วี่แววที่จะตามทันคู่แข่งรายอื่นในตลาด ขณะที่โฆษกของแบล็กเบอร์รีออกมายืนยัน บริษัทต้องการให้เหลือแต่ "พนักงานที่ใช่" จริงๆเท่านั้นไว้ในองค์กร
รายงานของวอลล์สตรีท เจอร์นัลซึ่งอ้างแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงภายในสำนักงานใหญ่ของแบล็กเบอร์รีที่เมืองวอเทอร์ลู ในแคว้นออนแทริโอของแคนาดาระบุว่า ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนชื่อดังทีมีจุดเด่นเรื่อง “โปรแกรมแช็ท” รายนี้เตรียมปลดพนักงานในสังกัดออกราว 40 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบครึ่งหนึ่งจากจำนวนพนักงานของแบล็กเบอร์รีที่มีอยู่ในเวลานี้ 12,700 คน เพื่อปรับโครงสร้างองค์กรและลดค่าใช้จ่ายภายในเพื่อความอยู่รอด
อย่างไรก็ดี โฆษกของบริษัทแบล็กเบอร์รี ลิมิเต็ด หรือชื่อเดิมคือ “รีเสิร์ช อิน โมชัน” ออกมาแถลงในเวลาต่อมาโดยไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดใดๆเกี่ยวกับจำนวนของพนักงานที่จะต้องถูกปลดออก มีเพียงการยืนยันว่า “การเปลี่ยนแปลงในแง่ของการประกอบการ” ของบริษัทจะยังคงดำเนินต่อไป
“ทุกอย่างที่เรากำลังดำเนินการนั้น ถือเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เรามั่นใจได้ว่า เราจะเหลือแต่พนักงานที่มีความเหมาะสม และเป็นคนที่ใช่จริงๆ เท่านั้นสำหรับองค์กรของเรา ที่กำลังขับเคลื่อนไปสู่โอกาสใหม่ในธุรกิจโมไบล์ คอมพิวติ้ง” โฆษกแบล็กเบอร์รีกล่าว
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของแบล็กเบอร์รีในการเตรียมปลดพนักงานครั้งใหญ่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์มีขึ้น หลังผลประกอบการของบริษัทยังคง “กู่ไม่กลับ” และสินค้าของแบล็กเบอร์รีก็ถูกบดบังจากสินค้าของคู่แข่งในตลาดโดยเฉพาะสินค้าจากค่ายแอปเปิล อิงค์ และซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์
ข้อมูลล่าสุดระบุว่า ในขณะนี้แบล็กเบอร์รีเหลือส่วนแบ่งในตลาดสมาร์ทโฟนในสหรัฐฯเพียงแค่ 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นและยังมีแนวโน้มที่ส่วนแบ่งการตลาดของแบล็กเบอร์รีจะลดลงอีก ทั้งที่เมื่อปี 2011 ส่วนแบ่งการตลาดของแบล็กเบอร์รีในสหรัฐฯยังอยู่ที่ 14 เปอร์เซ็นต์ และบริษัทยังมีจำนวนพนักงานในเวลานั้นกว่า 17,000 คน
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนสิงหาคม แบล็กเบอร์รีประกาศพร้อมพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ซึ่งรวมถึง ทางเลือกในการ “ขายกิจการ”ทั้งหมดให้กับนักลงทุนที่สนใจมาแล้ว หลังจากที่รายได้ของบริษัทในปี 2012 ลดฮวบลงไปถึง 40 เปอร์เซ็นต์เหลือเพียง 11,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 340,755 ล้านบาท)