เอเจนซี - อิหร่านเผยเมื่อวันอังคาร (17) ว่าประธานาธิบดีฮัสซาน โรฮานี ได้มีการส่งจดหมายแลกเปลี่ยนกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ยืนยันถึงการติดต่อที่แทบไม่เห็นบ่อยครั้งนักระหว่างผู้นำสองชาติที่ไม่ลงรอยกันในเรื่องต่างๆ ทั้งโครงการนิวเคลียร์ของเตหะราน สงครามซีเรียและประเด็นอื่นๆ
สหรัฐฯ และอิหร่าน ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตตั้งแต่ปี 1980 หลังเกิดเหตุนักศึกษาและนักรบอิสลามิสต์บุกเข้าไปยังสถานทูตอเมริกาประจำกรุงเตหะรานและจับนักการทูตวอชิงตันเป็นตัวประกัน
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่นายโรฮานี นักการศาสนาซึ่งมีแนวคิดสายกลางได้รับชัยชนะอย่างน่าประหลาดใจในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมิถุนายน เจ้าหน้าที่ของสองประเทศก็แสดงนัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆว่าพร้อมเจรจากันโดยตรงเพื่อแสวงหาหนทางยุติข้อพิพาททางนิวเคลียร์ที่ยืดเยื้อมานานหลายทศวรรษ
อเมริกาและยุโรป ออกมาตรการคว่ำบาตรอันหนักหน่วงต่อเศรษฐกิจของอิหร่าน ในนั้นรวมถึงภาคน้ำมันอันสำคัญ อันเป็นผลมาจากความกังวลว่าเตหะรากำลังเดินหน้าเพิ่มแสนยานุภาพด้านอาวุธนิวเคลียร์ แต่ทางอิหร่านปฏิเสธและอ้างว่าเป็นโครงการพลังงานไฟฟ้าเพื่อสันติ พร้อมบอกว่าประเด็นนิวเคลียร์นี้ถูกหยิบยกมาใช้เป็นขข้ออ้างสำหรับลงโทษประเทศหนึ่งๆ ซึ่งไม่เป็นที่นิยมในหมู่ชาติตะวันตกเท่านั้น
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่านเผยในวันอังคาร (17) ว่า โอบามา ได้ส่งสารแสดงความยินดีในโอกาสที่นายโรฮานี ได้รับชัยชนะในศึกเลือกตั้ง “มีการแลกเปลี่ยนหนังสือกัน” โฆษกบอก “จดหมายแลกเปลี่ยนนี้มีการส่งผ่านกลไกของช่องทางทางการทูตที่มีอยู่ในปัจจุบัน”
แม้เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นนัก แต่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการแลกเปลี่ยนจดหมายกันระหว่าง 2 ฝ่าย โดยนายมาห์มูด อะห์มาดิเนจัด ประธานาธิบดีคนก่อน เคยส่งหนังสือถึง โอบามา เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ส่วน โอบามา ก็เคยเขียนจดหมายส่งตรงถึง อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน 2 ครั้งในปี 2009 และ 2012
โอบามา ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งเมื่อวันอาทิตย์(15) เผยเช่นกันว่าเขาแลกเปลี่ยนจดหมายกับโรฮานี ขณะที่ทั้งสองคนมีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติวันเดียวกันในสัปดาห์หน้า แม้ว่าจนถึงตอนนี้ทั้งสองคนยังไม่ได้วางแผนนัดปบปะหารือกันก็ตาม
โรฮานี เคยบอกว่าเขาต้องการแสวงหาการติดต่อสัมพันธ์กับโลกอย่างเป็นรูปเป็นร่าง เพิ่มความหวังว่าต่อการเจรจายุติข้อพิพาททางนิวเคลียร์ ขณะที่อีกสิ่งบ่งชี้หนึ่งก็ปรากฎออกมาในวันอังคาร(17) เมื่อ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ซึ่งมีอำนาจบัญชาข้อตกลงนิวเคลียร์ใดๆ บอกว่าเขาสนับสนุนการทูตที่ยืดหยุ่นของอิหร่าน แม้เขาไม่ได้อธิบายว่ามันมีความหมายอย่างไรในทางปฏิบัติ พร้อมกันนั้นเขายังระบุด้วยว่าสนับสนุนนโยบายภายในและต่างประเทศที่เหมาะสมและมีเหตุผล แต่เตือนว่าอิหร่านต้องไม่ลืมว่ายังมีศัตรูอยู่