xs
xsm
sm
md
lg

‘โอบามา’ยอมรับ‘แผนซีเรีย’ของ‘รัสเซีย’ได้ทั้งเสียงเชียร์และเสียงโห่

เผยแพร่:   โดย: จิม โล้บ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Cheers and jeers greet Obama’s bear hug
By Jim Lobe
12/09/2013

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ตัดสินใจยอมรับข้อเสนอของรัสเซียที่จะให้นำเอาคลังแสงอาวุธเคมีของดามัสกัสเข้ามาอยู่ในความควบคุมของนานาชาติ และจัดการชะลอการลงคะแนนของรัฐสภาสหรัฐฯเพื่ออนุมัติการใช้กำลังทหารถล่มโจมตีซีเรีย ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของเขามีทั้งเสียงยกย่องชมเชยและเสียงประณามติเตียนจากฝ่ายต่างๆ ในแวดวงการเมืองอเมริกัน

วอชิงตัน – ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ตัดสินใจที่จะชะลอการโหวตของรัฐสภาอเมริกันในเรื่องการใช้กำลังทหารเข้าเล่นงานซีเรีย เพื่อหันมาเดินตามข้อเสนอของรัสเซียที่จะให้นำเอาคลังแสงอาวุธเคมีของดามัสกัสมาอยู่ภายใต้การควบคุมของนานาชาติ ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของเขาก่อให้เกิดทั้งเสียงยกย่องชมเชยและก็เสียงประณามติเตียนจากฝ่ายต่างๆ ทั่วทั้งแวดวงการเมืองในวอชิงตัน

ขณะที่พวกผู้สนับสนุนโอบามาพากันออกมาปกป้องแก้ต่างให้แก่การตัดสินใจของเขา ซึ่งเขาได้ประกาศอย่างเป็นทางการในการกล่าวปราศรัยถ่ายทอดทางทีวีทั่วสหรัฐฯในช่วงไพรม์ไทม์ของคืนวันอังคาร (10ก.ย.) โดยระบุว่านี่เป็นความฉลาดหลักแหลมทั้งในทางการเมืองและในทางการทูต พวกสายเหยี่ยวกลับประณามตำหนิว่ามันเป็นความเคลื่อนไหวซึ่งพวกเขาเห็นว่าเท่ากับการที่สหรัฐฯสละฐานะความเป็นผู้นำในกิจการต่างๆ ของโลกอีกครั้งคราหนึ่ง

“ความเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจจะช่วยชีวิตมิสเตอร์โอบามาและคองเกรสจากความทุกข์ทรมานทางการเมืองของการที่ต้องออกเสียงในร่างมติให้อำนาจเพื่อการโจมตีทางทหารต่อซีเรียก็จริงอยู่” หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล ที่มีแนวทางการเมืองแบบพวกอนุรักษนิยมใหม่ (neo-conservative) ระบุเอาไว้เช่นนี้ในบทบรรณาธิการชิ้นสำคัญที่สุดของฉบับวันพุธที่ 11 กันยายน “แต่มาถึงตอนนี้ย่อมหมายความว่าตลาดนัดกลางแจ้งทางการเมืองอันสับสนวุ่นวาย ได้เปิดทำการขึ้นมาแล้ว โดยที่มิสเตอร์โอบามาได้เปลี่ยนฐานะตนเองให้กลับกลายเป็นเพียง 1 ในบรรดาพ่อค้าอูฐระดับเล็กๆ คนหนึ่งเท่านั้น”

“ประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้อ่อนแอและไม่คงเส้นคงวาง ได้ถูกปั่นหัวยักเยื้องจากพวกศัตรูของอเมริกัน จนกระทั่งกำลังอวดอ้างว่า ความปราชัยแห่งนโยบายซีเรียของเขาแท้ที่จริงแล้วเป็นชัยชนะ” บทบรรณาธิการนี้ประกาศ พร้อมกับกล่าวต่อไปว่าการที่โอบามาเลือกที่จะลังเลชักช้าและเดินหนทางการทูต อาจทำให้มีความเป็นไปได้เพิ่มมากขึ้นอีกที่อิสราเอลจะตัดสินใจเข้าโจมตีบรรดาสิ่งปลูกสร้างทางด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผู้นำเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรอเมริกัน แนนซี เปโลซี (Nancy Pelosi) ซึ่งเป็นหนึ่งในชาวพรรคเดโมแครตไม่กี่คนที่ออกมาแสดงความสนับสนุนอย่างแข็งขัน ตั้งแต่ตอนที่โอบามาขออำนาจต่อรัฐสภาเพื่อใช้ปฏิบัติการทางทหาร ได้รีบกล่าวยกย่องชมเชยการตัดสินใจในคราวนี้ของเขา

“คณะนำของ ปธน.โอบามา นำเอาหนทางแก้ปัญหาด้วยการทูตกลับเข้ามาวางบนโต๊ะใหม่ แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของเขาที่จะหนหนทางเยียวยาทุกๆ ประการจนหมดมุกแล้ว จากนั้นจึงค่อยใช้กำลัง” เธอทวิตเช่นนี้ในทันทีหลังจากโอบามาเสร็จสิ้นการกล่าวปราศรัยในคืนวันอังคาร

การปราศรัยที่กินเวลาประมาณ 15 นาทีคราวนี้ แรกเริ่มเดิมทีมีความมุ่งหมายที่จะให้เป็นจุดสูงสุดของความพยายามในการล็อบบี้อย่างเข้มข้นเป็นเวลา 1 สัปดาห์เพื่อเกลี้ยกล่อมชักจูงพวกสมาชิกรัฐสภาที่ยังลังเลไม่แน่ใจให้ลงคะแนนอนุมัติคำขอของประธานาธิบดี ในร่างมติ “การให้อำนาจเพื่อใช้กำลังทหาร” (Authorization for the Use of Military Force) เพื่อการลงโทษดามัสกัสตามข้อกล่าวหาที่ว่าพวกเขาได้ใช้อาวุธเคมี ทว่าก่อนที่โอบามาจะเริ่มกล่าวปราศรัยไม่ถึง 48 ชั่วโมง รัสเซียผู้เป็นพันธมิตรรายสำคัญที่สุดของซีเรีย ได้ยื่นข้อเสนอใหม่อย่างชนิดไม่เป็นที่คาดหมายกันมาก่อน ว่าแทนที่จะคิดใช้กำลังทหารเข้าเล่นงานดามัสกัส เราควรที่จะให้ซีเรียนำเอาคลังแสงอาวุธเคมีของตนเข้าไปอยู่ใต้การควบคุมของนานาชาติ

ข้อเสนอดังกล่าวนี้ได้รับการต้อนรับอย่างยินดีในทันทีจากรัฐมนตรีต่างประเทศของซีเรีย และต่อมาเขาก็ประกาศว่ารัฐบาลของเขามีเจตนารมณ์ที่จะเข้าร่วมในอนุสัญญาอาวุธเคมี (Chemical Weapons Convention) ตลอดจนจะเปิดสถานที่อันเกี่ยวข้องกับอาวุธเหล่านี้ของตนให้นานาชาติเข้าไปตรวจสอบ

“ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าข้อเสนอนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ รวมทั้งข้อตกลงใดๆ ก็ตามทีจำเป็นต้องมีการตรวจสอบพิสูจน์ให้ชัดเจนว่า ระบอบปกครอง (ของประธานาธิบดีซีเรีย บาชาร์ อัล-) อัสซาด รักษาคำมั่นสัญญาของตนจริงๆ ทว่าความริเริ่มดังกล่าวนี้ก็มีศักยภาพที่จะขจัดภัยคุกคามของอาวุธเคมีไปโดยที่ไม่ต้องใช้กำลัง” โอบามากล่าว พร้อมกับระบุด้วยว่าเขายังคงออกคำสั่งให้กองทัพสหรัฐฯ “รักษาตำแหน่งแห่งที่ในปัจจุบันของตน และอยู่ในจุดซึ่งสามารถตอบโต้ได้ถ้าหากหนทางการทูตประสบความล้มเหลว”

เขาประกาศด้วยว่าจัดส่งรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี (John Kerry) ของสหรัฐฯ ไปพบปะหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซียเกย์ ลัฟรอฟ (Sergey Lavrov) ในนครเจนีวา ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายนนี้ เพื่อเริ่มต้นการเจรจากันในเรื่องวิธีในการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อเสนอของฝ่ายรัสเซีย ตลอดจนในเรื่องกรอบเวลาของการดำเนินการเรื่องนี้

คำถามเหล่านี้เองก็เป็นสิ่งที่ค้างคาข้องใจกันมากที่สุดในความคิดของบรรดานักวิเคราะห์เกือบทั้งหมดในกรุงวอชิงตัน ในขณะที่พวกเขาแสดงความสงสัยข้องระดับต่างๆ กันในเรื่องที่ว่าจริงๆ แล้วอัสซาดกำลังเตรียมยินยอมให้ปลดคลังแสงอาวุธเคมีของเขาหรือเปล่า โดยเป็นที่เชื่อกันว่ามันเป็นคลังแสงอาวุธเคมีซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และกระทั่งหากอัสซาดยินยอมจริง ก็ยังมีคำถามต่อไปว่าจะสามารถดำเนินการปลดคลังแสงอาวุธเคมีเหล่านี้ให้สำเร็จได้ด้วยวิธีใด ในเมื่อเวลานี้ซีเรียกำลังอยู่ท่ามกลางสงครามกลางเมือง ซึ่งส่งผลให้ไม่มีความปลอดภัย

พวกสายเหยี่ยวบางรายโต้แย้งว่า สิ่งที่โอบามาควรจะกระทำมากกว่าก็คือการปฏิเสธข้อเสนอของฝ่ายรัสเซียไปเลย จากนั้นก็เปิดฉากการโจมตีด้วยขีปนาวุธอย่างที่เขาพูดเอาไว้ในตอนแรกๆ ภายหลังจากที่กล่าวหากันว่ารัฐบาลอัสซาดทำการโจมตีด้วยอาวุธเคมีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ซึ่งตามข้อมูลที่เผยแพร่โดยทำเนียบขาวนั้น ระบุว่าได้สังหารผลาญชีวิตผู้คนไปมากกว่า 1,400 คน

อย่างไรก็ตาม พวกผู้สังเกตการณ์เกือบทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันว่า โอบามาแทบไม่มีทางเลือกอะไรอื่นใดอีก ในทันทีที่เขายื่นขอให้รัฐสภาสหรัฐฯอนุมัติการใช้กำลัง ภายหลังจากรัฐสภาอังกฤษได้ปฏิเสธไม่ให้อังกฤษเข้าร่วมในการปฏิบัติการทางทหารใดๆ ไปแล้ว

ในตอนแรกๆ ทีเดียว คณะรัฐบาลโอบามาดูเหมือนจะคาดคิดว่า เสียงของชาวพรรคเดโมแครตที่ยังคงภักดีต่อโอบามา เมื่อนำมาบวกกับพวกสายเหยี่ยวของรีพับลิกัน น่าจะเพียงพอให้ได้เสียงข้างมากในรัฐสภาสำหรับการผ่านร่างมติการให้อำนาจฝ่ายบริหารในการทำการโจมตีด้วยขีปนาวุธต่อซีเรีย โดยที่จุดมุ่งหมายในการโจมตีนี้ก็มีการกำหนดเอาไว้อย่างแคบๆ เพียงแค่เพื่อเป็นการปรามไม่ให้ดามัสกัสใช้อาวุธเคมีอีก

ทว่าหลังจากนั้นไม่นานนักมันก็เป็นที่แจ่มกระจ่างว่า มติสาธารณชนอเมริกันนั้นคัดค้านอย่างแรงกล้าต่อการปฏิบัติการใดๆ ก็ตามทีที่อาจทำให้สหรัฐฯต้องเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับสงครามกลางเมืองในตะวันออกกลางครั้งใหม่อีกครั้ง และเนื่องจากคณะรัฐบาลยังพยายามที่จะเอาอกเอาใจพวกสายเหยี่ยวของรีพับลิกันอย่างเช่น วุฒิสมาชิก จอห์น แมคเคน (John McCain) ผู้ซึ่งปรารถนาให้ดำเนินการโจมตีซีเรียอย่างกว้างขวางมากขึ้นอีก จะได้เป็นการบั่นทอนกลไกทางทหารของอัสซาดให้อ่อนแอลงไปด้วย แรงคัดค้านของประชาชนต่อการปฏิบัติการทางทหารใดๆ ก็ตามทีก็ยิ่งเติบใหญ่ขยายตัว

“โอกาสดีที่สุดที่คณะรัฐบาลจะสามารถได้รับความสนับสนุนจากสาธารณชนก็คือ จะต้องยึดมั่นอยู่กับข้อโต้แย้งเชิงหลักการบรรดทัดฐานของตน (ซึ่งก็คือเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทำให้บรรทัดฐานระหว่างประเทศมีความศักดิ์สิทธิ์ นั่นคือใครใช้อาวุธเคมี ก็จะต้องถูกลงโทษ) และไม่เข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับเรื่องการส่งผลกระทบกระเทือนต่อทิศทางของสงครามกลางเมืองในซีเรีย” สตีเฟน คูลล์ (Stephen Kull) ผู้อำนวยการของเว็บไซต์ worldpublicopinion.org บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS)

“ทว่าข้อโต้แย้งเชิงบรรทัดฐานนี้มีอันต้องขุ่นมัวเลอะเลือนไป จากการที่มีการพูดจากันมากขึ้นในเรื่องที่ว่าควรจะต้องพยายามใช้การโจมตีซีเรียนี้มาส่งผลกระทบกระเทือนต่อทิศทางของสงครามกลางเมือง แล้วยิ่งเมื่อบวกกับข้อเท็จจริงที่ว่าคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นยังไม่ได้มีมติใดๆ รับรองเรื่องนี้ เหล่านี้จึงกลายเป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนเกิดความข้องใจขึ้นมาอย่างชัดเจน”

ด้วยเหตุนี้แอง ถึงแม้คณะรัฐบาลพยายามทำการล็อบบี้อย่างเต็มที่ รวมทั้งยังได้รับความสนับสนุนอย่างเปิดเผยและอย่างแข็งขันผิดธรรมดาจากกลุ่มล็อบบี้เพื่ออิสราเอลอันทรงอำนาจอิทธิพล แต่เสียงคัดค้านการใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อซีเรียกลับพุ่งทะยานจากระดับประมาณ 50% เมื่อสัก 10 วันก่อน มาเป็นประมาณ 70% ในช่วงนี้ ทั้งนี้ตามผลการสำรวจประชามติสำนักต่างๆ ซึ่งกระทำกันในระยะสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

เมื่อถึงวันจันทร์ที่ 9 กันยายน วุฒิสมาชิกหลายต่อหลายคนที่เดิมเคยคิดกันว่าจะอยู่ข้างคณะรัฐบาลโอบามา ก็กลับแสดงท่าทีผละหนีตีจาก ทำให้ไม่เป็นที่แน่ใจกันว่าวุฒิสภาซึ่งพรรคเดโมแครตมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งอยู่ จะออกเสียงอย่างไรกันแน่ในร่างมติให้อำนาจใช้ปฏิบัติการทางทหารนี้ และบังคับให้ แฮร์รี รีด (Harry Reid) ผู้นำเสียงข้างมากของสภาสูงต้องเลื่อนการโหวตออกเสียงทดสอบซึ่งเดิมกำหนดเอาไว้ว่าจะกระทำกันในวันพุธ (11 กันยายน) ยิ่งสำหรับในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งพรรครีพับลิกันควบคุมอยู่ เท่าที่ผ่านมาการผลักดันเรื่องใดๆ ก็ตามทีของคณะรัฐบาลโอบามาก็เป็นไปด้วยความลำบากยากเย็นยิ่งเป็นปกติอยู่แล้ว ดังนั้นจึงเห็นกันว่าโอกาสที่ร่างมตินี้จะได้รับความเห็นชอบนั้นแทบจะเป็นศูนย์ทีเดียว

ด้วยเหตุฉะนี้ เมื่อมอสโกยื่นข้อเสนอของตนออกมาอย่างไม่เป็นที่คาดหมายกันล่วงหน้า ทำเนียบขาวหลังจากลังเลสับสนอยู่บ้างในช่วงต้นๆ ก็ได้จัดการยึดฉวยเอาไว้โดยถือเป็นหนทางที่จะสามารถนำพาให้ตนเองหลีกเลี่ยงจากความหายนะทางการเมือง –ถ้าหากจะไม่เป็นความหายนะทางการทูตไปด้วย

นอกจากนั้น ข้อเสนอดังกล่าวนี้ยังทำให้พวกสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯบังเกิดความโล่งอกโล่งใจไม่ใช่น้อยทีเดียว เพราะการที่ โอบามา ยื่นขอให้ฝ่ายนิติบัญญัติอนุมัติการใช้ปฏิบัติการทางทหารเช่นนี้ เป็นสิ่งซึ่งประธานาธิบดีอเมริกันไม่ค่อยกระทำกัน อีกทั้งยังมีความหมายเท่ากับการมาขอให้รัฐสภาร่วมรับผิดชอบต่อการใช้ปฏิบัติการในลักษณะของการทำสงครามกับต่างชาติอีกด้วย

แม้กระทั่งวุฒิสมาชิกแมคเคน ก็ยังบอกว่าสมควรที่จะทดสอบดูว่าข้อเสนอของฝ่ายรัสเซียมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้หลังจากที่เขาพบว่าตัวเขาเองก็ไม่สามารถเรียกระดมวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันด้วยกันให้มาอยู่ข้างเดียวกับเขาได้ ทว่าแมคเคนหันมาใช้วิธีประณามว่าเป็นความผิดของคณะรัฐบาลโอบามาที่ไร้ความสามารถในการนำเสนอเหตุผลเพื่อให้รัฐสภาสนับสนุนการใช้ปฏิบัติการทางทหาร

“ข้อเท็จจริงก็คือคุณไม่สามารถที่จะโยนโอกาสเช่นนี้ทิ้งไป ถ้าหากมีโอกาสเช่นนี้ขึ้นมา” แมคเคนบอกกับโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น “แต่คุณจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยให้ถูกต้องด้วยว่ามันเป็นของจริงหรือเปล่า”

จิม โล้บ จัดทำบล็อกว่าด้วยนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งสามารถเข้าไปอ่านได้ที่ http://www.lobelog.com.

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น