xs
xsm
sm
md
lg

รายงานล่าสุด เผย อัตราการตายของเด็กวัยแรกเกิดทั่วโลกลดลงครึ่งหนึ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - อัตราการเสียชีวิตของเด็กวัยแรกเกิดทั่วโลกลดลงไปแล้วครึ่งหนึ่งเมื่อนับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา แต่ทว่าเด็กๆ ที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ราว 18,000 คน ก็ยังคงเสียชีวิตอยู่รายวัน อ้างจากรายงานล่าสุดที่เผยแพร่ในวันศุกร์ (13)

โดยมีเด็กราว 6.6 ล้านคนที่เสียชีวิตก่อนปีครบรอบวันเกิดครั้งที่ 5 ของพวกเขา ซึ่งยอดการเสียชีวิตดังกล่าวในปี 1990 อยู่ที่ 12.6 ล้านคน อ้างจากรายงานขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟ (UNICEF) ธนาคารโลกและองค์การอนามัยโลก (WHO)

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวก็ยังนับว่ามากอยู่ดี

“แนวโน้มเช่นนี้สามารถมองเป็นแง่ดีได้อย่างหนึ่งคือ หลายล้านชีวิตได้ถูกช่วยไว้แล้ว” แอนโทนี เลค ผู้อำนวยการบริหารองค์การยูนิเซฟ กล่าว

อย่างไรก็ตาม “การเสียชีวิตจำนวนมากนี้สามารถยับยั้งได้ ด้วยขั้นตอนตามปกติที่หลายๆ ประเทศได้นำไปใช้กันแล้ว แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เราจำเป็นต้องมีคือการตระหนักถึงภาวะอันเร่งด่วนที่มากกว่านี้”

โดยทุกๆ ภูมิภาค ยกเว้นแถบโอเชียเนีย (หมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก) และแถบซับ-ซาฮารา ของแอฟริกา พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตลดลงไปมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

ในเอเชียตะวันออก อัตราการเสียชีวิตของเด็กแรกเกิดลดลงมาถึง 74 เปอร์เซ็นต์ และในแอฟริกาเหนือลดลงมา 69 เปอร์เซ็นต์

แต่ทว่าในบางภูมิภาคกลับมีอัตรการเสียชีวิตที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยอัตราการตายประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบในปี 2012 ยังคงเกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่แถบซับ-ซาฮารา ของแอฟริกา และเอเชียใต้

ปัจจุบันมีเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบราว 18,000 คน เสียชีวิตรายวัน ครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิตของพวกเขาทั้งหมด เกิดขึ้นใน 5 ประเทศ อันได้แก่ จีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อินเดีย ไนจีเรีย และปากีสถาน

สาเหตุหลักของการตายโดยส่วนใหญ่คือ โรคปอดบวม ภาวะการคลอดก่อนกำหนด ภาวะขาดออกซิเจนแรกคลอด โรคท้องร่วง และมาลาเรีย อ้างจากรายงาน

รายงานยังระบุอีกว่า ถึงแม้ว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น แต่ความพยายามที่หยุดยั้งการเสียชีวิตในเด็กช่วงปฐมวัยก็ยังคงล้มเหว ทั้งๆที่กำหนดเวลาของเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษไกล้เข้ามาแล้ว ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวมีการกำหนดไว้ว่าจะลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีให้ได้ประมาณสองในสาม ระหว่างปี 1990-2015

ทั้งนี้เป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ (Millennium Development Goals - MDGs) คือเป้าหมายการพัฒนาระหว่างประเทศ 8 ประการ ที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการในการประชุมสุดยอดสหัสวรรษ (Millennium Summit)ในปี 2000 ซึ่งรัฐสมาชิกสหประชาชาติ 189 แห่ง และองค์การระหว่างประเทศอย่างน้อย 23 องค์การ ได้ตกลงยอมรับกันที่จะพยายามบรรลุให้ได้ภายในปี 2015
กำลังโหลดความคิดเห็น