xs
xsm
sm
md
lg

อดีตนายกฯ “เคอิตา” คว้าชัยศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีมาลี หลังคู่แข่งสำคัญยอมรับความพ่ายแพ้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดีตนายกรัฐมนตรีอิบราฮิม บูบาการ์ เคอิตา
เอพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-อดีตนายกรัฐมนตรีอิบราฮิม บูบาการ์ เคอิตา ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในมาลีอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ (12) หลังจากที่คู่แข่งสำคัญประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งที่ถูกคาดหมายว่าจะช่วยนำดินแดนทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาแห่งนี้กลับคืนสู่ความมีเสถียรภาพ หลังต้องเผชิญกับความวุ่นวายจากการยึดอำนาจ และภัยคุกคามของกลุ่มติดอาวุธมุสลิมหัวรุนแรง

ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายกังวลว่า การเลือกตั้งในมาลีอาจนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองรอบใหม่ แต่หลังจากที่นายซูมาเลีย ซิสเซ ผู้สมัครซึ่งสำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศสและเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ชื่อดัง ออกมาประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งต่ออดีตนายกรัฐมนตรีเคอิตา ความวิตกของนานาชาติต่อสถานการณ์ในมาลีจึงคลี่คลาย และส่งผลให้มาลีได้กลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มรูปแบบและกำลังจะมีรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

การออกมายอมรับความพ่ายแพ้ของซิสเซมีขึ้น หลังจากที่เขาและภรรยาเดินทางไปพบกับอดีตนายกรัฐมนตรีเคอิตา ที่บ้านพักในคืนวันจันทร์ (12) พร้อมประกาศสนับสนุนเคอิตาวัย 68 ปีให้ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ

ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาลีในรอบแรกที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 28 กรกฏาคมปรากฎว่าเคอิตา จากพรรค “Rally for Mali” เป็นผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดกว่า 1.22 ล้านเสียงหรือคิดเป็น 39.23 เปอร์เซ็นต์

แต่เนื่องจากเคอิตาได้คะแนนเสียงไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ในรอบแรก ทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งรอบที่ 2 ในวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมาซึ่งเคอิตาต้องลงชิงชัยกับผู้สมัครที่ได้คะแนนมาเป็นลำดับที่ 2 ในรอบแรกนั่นคือซูมาเลีย ซิสเซจากพรรค “Union for the Republic and Democracy” ที่ได้คะแนนเสียงราว 605,900 คะแนนหรือคิดเป็น 19.44 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ดี การออกมายอมรับความพ่ายแพ้ของซิสเซทั้งที่ยังไม่มีการประกาศผลการเลือกตั้งรอบชี้ขาดอย่างเป็นทางการนั้น ส่งผลให้ เคอิตาซึ่งเคยเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศระหว่างปี 1994 - 2000 เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีไปโดยปริยาย แม้จะมีความพยายามของกลุ่มผู้สนับสนุนซิสเซที่ออกมาเคลื่อนไหวและกล่าวหาว่าเคอิตาโกงการเลือกตั้งก็ตาม

ทั้งนี้ อดีตนายกรัฐมนตรีเคอิตาซึ่งกำลังจะได้ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของมาลี ต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญทันทีที่รับตำแหน่ง โดยเฉพาะการนำประเทศกลับคืนสู่ความมีเสถียรภาพ หลังเกิดความวุ่นวายนานัปการนับตั้งแต่การยึดอำนาจของประธานาธิบดีอมาดู ตูมานี ตูเรเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว

นอกจากนั้น เคอิตายังต้องรับภาระเดินหน้าผลักดันการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มกบฏ “แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติอซาวัด” ที่ฉวยโอกาสเข้ายึดครองหลายพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศหลังการยึดอำนาจ จนอดีตประเทศเมืองแม่อย่างฝรั่งเศสต้องเปิดปฏิบัติการโจมตีเพื่อปลดปล่อยพื้นที่ตอนเหนือของมาลีจากการยึดครองของกลุ่มกบฏดังกล่าว ที่มีแนวคิดสุดโต่งและเชื่อมโยงกับเครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะห์


ซูมาเลีย ซิสเซ
กำลังโหลดความคิดเห็น