xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ นอร์เวย์ปลอมเป็น “คนขับแท็กซี่” รับฟังปัญหาชาวบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้โดยสารสาวชาวนอร์เวย์ 2 รายถึงกับหลุดขำด้วยความประหลาดใจ เมื่อจำได้ว่าคนขับแท็กซีคือนายกรัฐมนตรี เจนส์ สโตลเตนเบิร์ก
เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรี เจนส์ สโตลเตนเบิร์ก แห่งนอร์เวย์ ออกมาเปิดเผยเมื่อวานนี้ (11) ว่าเขาเคยปลอมตัวเป็นคนขับแท็กซี่ในบ่ายวันหนึ่ง เพื่อจะได้ทราบถึงความทุกข์ร้อนที่แท้จริงของประชาชน

สโตลเตนเบิร์ก แถลงผ่านคลิปวิดีโอซึ่งถูกโพสลงบนเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ และยูทิวบ์ว่า “ผมเชื่อว่าการรับฟังความคิดของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ และหากจะมีสถานที่ใดที่คนจะเผยความรู้สึกนึกคิด นั่นก็คือในรถแท็กซี่”

คลิปวิดีโอนี้ถูกเผยแพร่ก่อนที่รัฐบาลนอร์เวย์จะต้องสู้ศึกเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 9 กันยายน ซึ่งจากผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดพบว่า รัฐบาลผสมฝ่ายกลางซ้ายของสโตลเตนเบิร์กมีแนวโน้มที่จะแพ้

บ่ายวันหนึ่งในเดือนมิถุนายน สโตลเตนเบิร์กนำเครื่องแบบคนขับแท็กซี่ในกรุงออสโลมาสวม และรับผู้โดยสารหลายรายขึ้นมาบนแท็กซี่เมอร์เซเดสสีดำ ภายในรถซ่อนกล้องบันทึกอากัปกิริยาของผู้โดยสาร ซึ่งก็มีคนหนึ่งพูดว่า “มองมุมนี้คุณเหมือนท่านนายกฯ มากเลยนะ”

ผู้โดยสารสตรีสูงวัยคนหนึ่งจำได้ว่าสโตลเตนเบิร์กเป็นใคร และขอร้องให้เขาช่วยตรวจสอบเงินเดือนผู้บริหารองค์กรต่างๆ โดยชี้ว่า “พวกเขาไม่น่าได้เงินเดือนเป็นล้านๆ แบบนั้น”

ผู้โดยสารแต่ละรายเอ่ยถึงประเด็นปัญหาที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่เรื่องการศึกษา เรื่อยไปจนถึงนโยบายน้ำมัน

สโตลเตนเบิร์กยอมรับกับผู้โดยสารสาวคนหนึ่งว่า เขาไม่ได้ขับรถมานานถึง 8 ปีแล้ว ซึ่งเธอก็ตอบว่า “ฉันว่าคุณก็ขับใช้ได้อยู่นะ... อย่างน้อยฉันก็ยังมีชีวิตอยู่”

หนังสือพิมพ์ Verdens Gang ซึ่งเป็นสื่อซุบซิบได้สอบถามนายกฯว่า หากแพ้เลือกตั้งจะลองผันตัวไปยึดอาชีพคนขับแท็กซี่หรือไม่ สโตลเตนเบิร์กก็ตอบว่า “ผมคิดว่าประเทศชาติและคนขับแท็กซี่ทุกคนคงจะได้รับประโยชน์มากกว่าหากผมยังเป็นนายกรัฐมนตรี และไม่ไปขับแท็กซี่เสียเอง”

สื่อฉบับนี้ระบุว่า ผู้โดยสารที่บังเอิญได้นั่งรถแท็กซี่นายกฯ ในวันนั้น ไม่ถูกเรียกเก็บค่าโดยสารแต่อย่างใด

แม้ สโตลเตนเบิร์ก จะนำพานอร์เวย์ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2008 มาได้อย่างสวยงาม แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็เริ่มรู้สึกว่า พรรคแรงงานที่เป็นรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2005 ครองอำนาจมานานเกินไปแล้ว

กรณีหนุ่มหัวรุนแรง อันเดอร์ส เบห์ริง เบรวิก วางระเบิดสำนักงานรัฐบาลในกรุงออสโล และกราดยิงค่ายเยาวชนบนเกาะอูเทอร์ยาจนมีผู้เสียชีวิตรวม 77 ศพ เมื่อปี 2011 เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลถูกวิจารณ์อย่างหนักถึงความไม่เตรียมพร้อมรับมือเหตุวินาศกรรม

ผลสำรวจความคิดเห็นที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่แล้ว (5) ระบุว่า รัฐบาลสโตลเตนเบิร์กมีคะแนนนิยมเหลือเพียงร้อยละ 41 ขณะที่พรรคอนุรักษนิยมฝ่ายค้านและพันธมิตรอีก 3 พรรค ได้คะแนนสงสารจากประชาชนไปถึงร้อยละ 53
กำลังโหลดความคิดเห็น