เอเอฟพี - รัฐบาลอียิปต์ประกาศกร้าวเมื่อวานนี้ (7 ก.ค.) ว่าจะปราบปรามกลุ่มอิสลามิสต์ที่ปักหลักประท้วงอยู่ในขณะนี้ ภายหลังจากที่ได้ออกมาแถลงว่าการที่ชาติตะวันตกพยายามยื่นมือเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยนั้นยังคงประสบความล้มเหลว ท่าทีเช่นนี้ของทางการทำให้เกิดความวิตกกันว่าจะมีการใช้ความรุนแรงเข้ายุติเหตุไม่สงบที่ยืดเยื้อยาวนานหนึ่งเดือนนี้ นับตั้งแต่ประธานาธิบดีมอร์ซีถูกขับออกจากตำแหน่ง
“คณะรัฐมนตรียืนยันว่าการตัดสินใจจะสลายกลุ่มผู้ประท้วงที่จัตุรัสราบาอา อัล-อาดาวิยา และจัตุรัสนะห์ดาเป็นการตัดสินใจขั้นเด็ดขาด ซึ่งทุกคนต่างเห็นด้วยและจะไม่เปลี่ยนใจ” นายกรัฐมนตรีฮาเซม อัล-เบบลาวีแถลงผ่านโทรทัศน์ของทางการ
พวกผู้ประท้วงที่ต่างปักหลักอยู่ที่จัตุรัสทั้ง 2 แห่งในกรุงไคโร เน้นย้ำเรื่อยมาว่าพวกเขาจะยังคงยืนหยัดต่อไปจนกว่ามอร์ซี อดีตผู้นำจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิมจะหวนคืนสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง
“เราขอเรียกร้องอีกครั้งให้พวกเขาสลายตัวไปโดยเร็ว กลับไปบ้านและที่ทำงานโดยที่พวกเขาจะไม่ถูกจับกุม หากมือไม่ได้เปื้อนเลือด” เบบลาวีกล่าว
“การที่รัฐบาลคำนึงถึงเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ ช่วงเวลาที่เราหวังว่าวิกฤตนี้จะสิ้นสุดลงโดยที่ไม่ต้องส่งกองกำลังความมั่นคงเข้าแทรกแซงนั้น ไม่ได้หมายความว่าคณะรัฐมนตรีได้เปลี่ยนใจแล้ว” เขาระบุเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะสิ้นสุดเดือนแห่งการถือศีลอดรอมฎอน
การแถลงนี้มีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงภายหลังที่วิลเลียมส์ เบิร์นส์ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศแดนมะกัน เดินทางออกจากกรุงไคโร โดยที่แผนการสร้างความปรองดองระหว่างรัฐบาลที่แต่งตั้งขึ้นโดยฝ่ายทหาร กับกลุ่มผู้สนับสนุนมอร์ซียังไม่คืบหน้าไปไหน
ทำเนียบประธานาธิบดีระบุว่าพวกเขาถือว่า “กลุ่มภราดรภาพมุสลิมคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบทั้งหมดสำหรับความล้มเหลวของความพยายามเหล่านี้ และสำหรับเหตุการณ์และพัฒนาการต่างๆ ที่ตามมา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนกฎหมาย และการคุกคามความปลอดภัยของประชาชนที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ”
ทั้งนี้ มีประชาชนกว่า 250 รายเสียชีวิตในเหตุความรุนแรงที่ปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มอร์ซีถูกกองทัพปลดลงจากตำแหน่งในวันที่ 3 มิถุนายน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากมีผู้ออกมาประท้วงกันมากมายเพื่อเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่งอยู่นานหลายวัน
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลแดนไอยคุปต์ได้สั่งการให้ตำรวจสลายกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นฝ่ายสนับสนุนมอร์ซีแล้ว โดยระบุว่า “เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ” ทว่าเลื่อนการปฏิบัติการออกไปในช่วงที่โลกตะวันตก ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปพยายามใช้การทูตเข้ากดดันฝ่ายต่างๆ ในแดนไอยคุปต์แก้ปัญหากันอย่างสันติ
กระทั่งเมื่อวานนี้ (7) เจน ซากี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ยังออกมาเรียกร้องให้กองทัพอียิปต์และกลุ่มการเมืองต่างๆ แก้ไขความขัดแย้งของพวกเขาด้วยการพูดจากัน
ความพยายามด้านการทูตของชาติตะวันตกประการแรก คือ ต้องการกดดันให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมยุติการปักหลักชุมนุม และประการที่สอง คือ การเรียกร้องให้รัฐบาลอียิปต์ปล่อยตัวบรรดาผู้นำกลุ่มอิสลามิสต์ซึ่งถูกจำคุกอยู่ในขณะนี้ เพื่อเป็นการทำตามมาตรการสร้างความเชื่อมั่น
ทั้งนี้ มอร์ซีถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ โดยทางการตั้งข้อสงสัยว่าในระหว่างที่มอร์ซีถูกจำคุกอยู่เมื่อต้นปี 2011 นั้นเขาได้ร่วมกับกลุ่มหัวรุนแรงชาวปาเลสไตน์ฆ่าตำรวจ และวางแผนให้มีการแหกคุกในช่วงที่มีการลุกฮือขึ้นต่อต้านฮอสนี มูบารัค ผู้นำอียิปต์ในเวลานั้น
ส่วนโมฮาเหม็ด บาดี ผู้นำสูงสุดของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมและผู้ช่วยของเขา ก็ถูกต้องข้อหาข้อหาปลุกปั่นให้กลุ่มผู้ประท้วงสาดกระสุนปืนที่บริเวณนอกสำนักงานใหญ่ของพวกเขาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา และมีกำหนดถูกนำตัวขึ้นศาลในเดือนนี้
ทางการอียิปต์ได้ออกมาให้คำมั่นกับกลุ่มผู้ประท้วงว่าพวกเขาจะปลอดภัยเมื่อออกจากการประท้วง และระบุว่าการยุติการชุมนุมจะทำให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมสามารถกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง
รัฐบาลแถลงว่าการปล่อยตัวนักโทษนั้นขึ้นอยู่กับอำนาจของฝ่ายตุลาการ แต่กลุ่มอิสลามิสต์ยืนยันว่าการปล่อยตัวผู้นำของพวกเขาเป็นเงื่อนไขเบื้องต้น อันจะนำไปสู่ขั้นตอนหารือแก้ไขปัญหาต่อไป ซึ่งอาจจะรวมถึงการให้มอร์ซีกลับเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในเชิงสัญลักษณ์ จากนั้นมอร์ซีก็จะประกาศจัดการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว