เอเอฟพี - นักวิทยาศาสตร์ในจีนอ้างพบการแพร่กระจายของเชื้อไข้หวัดนก H7N9 จากคนสู่คนเป็นกรณีแรก วานนี้ (6) หลังจากที่การแพร่ระบาดของไวรัสได้คร่าชีวิตมนุษย์ไปแล้วกว่า 40 คนตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา
คณะนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนเขียนในบทความที่เผยแพร่ลงวารสารออนไลน์ bmj.com ในอังกฤษว่า พัฒนาการของเชื้อไวรัสจัดว่า “น่าเป็นห่วง” แต่ยืนยันว่า H7N9 ซึ่งคาดว่ามีต้นตอจากสัตว์ปีก ยังไม่สามารถปรับตัวจนแพร่จากคนสู่คนได้อย่างกว้างขวาง
“ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป... การแพร่ของไวรัสชนิดนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก” เป่า ฉาง-จุน นักระบาดวิทยาจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคมณฑลเจียงซู ซึ่งเป็นเขตที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส H7N9 ค่อนข้างรุนแรง ให้สัมภาษณ์เอเอฟพีเกี่ยวกับงานวิจัยที่เขาร่วมเขียน
นักวิทยาศาสตร์หวั่นเกรงกันมานานว่า ไวรัส H7N9 อาจมีการกลายพันธุ์ จนสามารถแพร่จากคนสู่คนได้ในที่สุด
เป่า และทีมวิจัยของเขาอ้างถึงกรณีของชายชราวัย 60 ปี ซึ่งเสียชีวิตที่โรงพยาบาลหลังได้รับเชื้อ H7N9 ต่อมาบุตรสาววัย 32 ปีที่มาเฝ้าไข้พ่ออยู่นานกว่า 1 สัปดาห์ก็ติดโรค และเสียชีวิตลงเช่นกัน
เนื่องจากหญิงรายนี้ไม่เคยสัมผัสสัตว์ปีก พนักงานสอบสวนจึงสรุปว่า คำอธิบายที่สมเหตุสมผลที่สุดก็คือ “เธอได้รับเชื้อโดยตรงจากบิดาที่เข้าไปซื้อเป็ดไก่ในตลาดอยู่เป็นประจำ”
“นอกจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจของพ่อระหว่างเฝ้าไข้แล้ว ตัวลูกสาวไม่เคยสัมผัสสัตว์ปีกโดยตรง และไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเธอจะได้รับเชื้อจากแหล่งอื่นๆ เลย” เป่า กล่าว พร้อมเผยว่า จากการตรวจพันธุกรรมไวรัสที่พบในคนไข้ทั้ง 2 ราย พบว่า “เกือบจะเหมือนกันไม่ผิดเพี้ยน”
แม้จะพบหลักฐานการแพร่เชื้อจากคนสู่คน แต่ความสามารถในการแพร่กกระจายของไวรัส “ยังอยู่ในวงจำกัดและไม่เสถียร” เนื่องจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและบุคคลอื่นๆ รวม 43 รายที่เคยใกล้ชิดกับคนไข้ทั้งสอง ไม่ได้ติดเชื้อไปด้วย
“ผลการศึกษาบ่งชี้ว่า ภูมิไวรับทางพันธุกรรม (genetic susceptibility) อาจเป็นตัวแปรที่สำคัญ และเชื้อไข้หวัดนกอาจจะแพร่ไปสู่บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกันทางพันธุกรรมได้ง่ายกว่า” ผลวิจัยระบุ
สถิติอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคมพบว่า มีผู้ติดเชื้อไวรัส H7N9 แล้วทั้งสิ้น 132 รายในจีน ซึ่งในจำนวนนั้นเสียชีวิตแล้ว 43 ราย หลังพบผู้ติดเชื้อรายแรกในเดือนมีนาคม ส่วนที่ไต้หวันก็พบผู้ป่วยแล้ว 1 ราย