xs
xsm
sm
md
lg

เปิดศักราชใหม่แห่งยุคหุ่นยนต์อวกาศ!! “ญี่ปุ่น” ส่ง “นักบินหุ่นแอนดรอยด์พูดได้” ขึ้นไปกับยานอวกาศได้สำเร็จแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คิโรโบและโทโมทากะ ทาคาฮาชิ แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว
เอพี/เอเจนซีส์ - ในเช้ามืดวันอาทิตย์ (4) ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของโลก ญี่ปุ่นได้ประสบความสำเร็จในการส่ง “คิโรโบ” นักบินหุ่นแอนดรอยด์ที่มีลักษณะเหมือนคนที่พูดได้ ผลงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยโตเกียว โตโยต้า มอเตอร์ และ เดนท์สุ มอเตอร์ พร้อมสัมภาระหนักกว่า 3.5 ตันขึ้นไปกับยานอวกาศที่ถูกปล่อยจากศูนย์อวกาศทาเนกาชิมา ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น จุดมุ่งหมายของการส่งคิโรโบขึ้นสู่อวกาศในครั้งนี้ เพื่อทดสอบการสื่อสารของหุ่นยนต์แอนดรอยด์ในสภาพไร้น้ำหนัก สถาบันสำรวจอวกาศแห่งชาติญี่ปุ่น หรือ JAXA เผย

คิโรโบ ที่มีความหมายในภาษาญี่ปุ่นที่ว่า “ความหวัง” และ “หุ่นยนต์” เป็นชื่อของนักบินอวกาศหุ่นแอนดรอยด์ญี่ปุ่นที่พูดได้ ถูกส่งไปพร้อมกับสัมภาระอื่นๆ และเครื่องจักรกลที่หนักราว 3.5 ตัน ในยานอวกาศที่ถูกปล่อยในเช้ามืดวันอาทิตย์ (4) ที่ผ่านมา ที่ศูนย์อวกาศทาเนกาชิมา ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น โดยคิโรโบเป็นโปรเจกต์ที่พัฒนาเพื่อทดสอบการสื่อสารของหุ่นยนต์แอนดรอยด์ในอวกาศ

โดยคิโรโบที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังการ์ตูนญี่ปุ่นที่โด่งดัง Astro Boy นี้ ถูกออกแบบเพื่อให้มาเป็นเพื่อนเดินทางของนักบินอวกาศญี่ปุ่น โคอิชิ วากาตะ ซึ่งจะสื่อสารเป็นภาษาญี่ปุ่น และยังต้องทำหน้าที่สื่อสารกับหุ่นยนต์ตัวอื่นที่อยู่บนพื้นผิวโลก มิราตาที่เป็นหุ่นยนต์ฝาแฝดจะคอยมอนิเตอร์การทำงานของคิโรโบในระหว่างที่ทำงานอยู่บนสถานีอวกาศ อ้างจากทีมผู้สร้าง ซึ่งวากาตะนั้นจะเดินทางเข้าสู่สถานีอวกาศนานาชาติในวันที่ 9 สิงหาคม นี้ คาดว่าทั้งคิโรโบและวากาตะที่จะขึ้นเป็นผู้บัญชาการสถานีอวกาศนานานาชาติในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะอาศัยอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS นานราว 18 เดือน

โทโมทากะ ทาคาฮาชิ แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ร่วมกับโตโยต้า มอเตอร์ และ เดนท์สุ มอเตอร์ ร่วมกันจัดสร้างคิโรโบ หุ่นยนต์แอนดรอยด์เหล็กขนาดสูง 13.4 นิ้ว หนัก 2 ปอนด์ โดยความยากในโปรเจกต์ครั้งนี้ ต้องทำให้แน่ใจว่าคิโรโบสามารถสื่อสารทางคำพูดและเคลื่อนไหวได้ในสภาพไร้น้ำหนัก “ก้าวเล็กๆ สำหรับตัวผม แต่เป็นก้าวที่ใหญ่มากสำหรับเหล่าหุ่นยนต์” ทาคาฮาชิ เสริม

ทางด้านนักวิจารณ์ได้แสดงข้อกังขาถึงประโยชน์ของโปรเจกต์ “คิโรโบ” นี้ ว่า ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นที่มักอ้างว่ามีความเจริญก้าวหน้าที่สุดในเทคโนโลยีการพัฒนาหุ่นยนต์ แต่ทว่าหุ่นยนต์ที่ญี่ปุ่นสร้างนั้นจึงเป็นลักษณะที่เลียนแบบคนทุกประการ มักจะออกไปทาง “น่ารัก” มากกว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้จริง

อย่างไรก็ตาม ทาคาฮาชิ แย้งว่า การส่งหุ่นยนต์ขึ้นสู่ห้วงอวกาศอาจเปิดหน้าใหม่ให้กับโลกแห่งการสื่อสาร “คิโรโบได้จดจำลักษณะใบหน้าของวากาตะ โดยเจ้าหุ่นตัวนี้จะสามารถที่จะสื่อสารกับเขาได้เมื่อทั้งคู่ได้พบกันอีกครั้งในสถานี ISS ผมหวังว่าเจ้าคิโรโบนี้จะเป็นเสมือนทูตระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ หรือคนกับอินเทอร์เน็ต และบางครั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์”








กำลังโหลดความคิดเห็น