xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นคนรับไม่ได้! เยอรมนีประกาศยกเลิก “ข้อตกลงสอดแนม” ที่ทำร่วมกับ “สหรัฐฯ-อังกฤษ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กุยโด เวสเตอร์เวลล์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี
เอเอฟพี – รัฐบาลเยอรมนีประกาศยกเลิกข้อตกลงสอดแนมที่ทำร่วมกับสหรัฐฯ และอังกฤษในช่วงปลายทศวรรษ 1960 เมื่อวานนี้(2) หลังจากวอชิงตันถูกเปิดโปงว่าใช้โปรแกรมสอดแนมล้วงข้อมูลส่วนบุคคลของพลเรือนและองค์กรต่างประเทศอย่างกว้างขวาง ซึ่งทำให้สังคมเยอรมนีอ่อนไหวกับพฤติกรรมสอดแนมของภาครัฐมากขึ้น

กุยโด เวสเตอร์เวลล์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ระบุว่า การยกเลิกข้อตกลง “มีความจำเป็นและเป็นเรื่องเหมาะสม” หลังจากที่สังคมทั่วโลกและในเยอรมนีเองกำลังตื่นตัว และวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในเรื่องของการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล

นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ได้หยิบยกปัญหานี้มาพูดคุยกับประธานาธิบดี บารัค โอบามา ระหว่างที่ผู้นำสหรัฐฯมาเยือนเบอร์ลินเมื่อเดือนมิถุนายน อีกทั้ง แมร์เคิล ซึ่งกำลังเตรียมลงสู้ศึกเลือกตั้งในเดือนกันยายนนี้ก็ต้องเผชิญคำถามที่ว่า รัฐบาลเยอรมนีรู้เห็นพฤติกรรมของสหรัฐฯมาโดยตลอดหรือไม่

เยอรมนีได้มีคำสั่งตรวจสอบความร่วมมือต่างๆ ระหว่างหน่วยสืบราชการลับของตนกับหน่วยงานของสหรัฐฯ ที่ตกเป็นจำเลยสังคมจากกรณีการสอดแนมอินเทอร์เน็ต ซึ่งถูกเปิดโปงให้โลกรู้โดย เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ผู้เชี่ยวชาญไอทีที่เคยเป็นพนักงานสัญญาจ้างของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ)

แมร์เคิล ยืนยันว่า เยอรมนี “มิใช่รัฐสอดแนม” และ “กฎหมายเยอรมนีมีผลบังคับใช้ในดินแดนเยอรมนี” เสมอ แต่ก็ยอมรับว่า มาตรการเหล่านี้ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้างในยุคที่ระบบสื่อสารสามารถเชื่อมโยงกันได้ทั่วโลก

ถ้อยแถลงจากกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ระบุว่า ข้อตกลงสอดแนมที่ทำร่วมกับสหรัฐฯและอังกฤษระหว่างปี 1968-69 ถูกยกเลิกไป “โดยความเห็นชอบจากทุกฝ่าย” ขณะที่สื่อท้องถิ่นเผยรายละเอียดว่า ข้อตกลงนี้อนุญาตให้สหรัฐฯและอังกฤษเข้าถึงข้อมูลข่าวกรองของเยอรมนี ในกรณีที่มีภัยคุกคามต่อทหารของทั้ง 2 ชาติที่ประจำการอยู่บนแผ่นดินเมืองเบียร์

“การขอยกเลิกข้อตกลงระหว่างรัฐบาลที่เราพยายามผลักดันมาหลายสัปดาห์นั้นมีความจำเป็นและเหมาะสม เนื่องจากระยะนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลอย่างแพร่หลาย” เวสเตอร์เวลล์ ระบุในถ้อยแถลง

ความทรงจำอันเจ็บปวดเกี่ยวกับกองทัพนาซีและรัฐคอมมิวนิสต์ในเยอรมนีตะวันออก ทำให้สังคมเยอรมันค่อนข้างอ่อนไหวกับประเด็นการสอดแนมข้อมูล
กำลังโหลดความคิดเห็น