เอเอฟพี - แพทย์ในอินเดียอนุญาตให้หนูน้อยวัย 1 ขวบที่ป่วยเป็นโรคประหลาดศีรษะโตกว่าปกติถึง 2 เท่า เดินทางกลับบ้านได้แล้ว วันนี้ (2) หลังการผ่าตัดรักษาอย่างต่อเนื่องช่วยให้ศีรษะของหนูน้อยลดขนาดลงจากเดิม
ศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใกล้กรุงนิวเดลี ได้ผ่าตัดเจาะกะโหลกศีรษะของหนูน้อย รูนา เบกุม เพื่อช่วยระบายของเหลวออกจากสมอง ทำให้ขนาดศีรษะของเธอลดลงจากเดิมมาก
สันทีป ไวศยา ประสาทศัลยแพทย์ เปิดเผยว่า “สุขภาพของ รูนา ดีขึ้นมาก เราอนุญาตให้เธอออกจากโรงพยาบาลได้เช้านี้ และเธอก็พร้อมที่จะเดินทางได้แล้ว”
รูนา มีอาการของโรคน้ำคั่งในโพรงสมอง (Hydrocephalus) ตั้งแต่กำเนิด หรือที่เรียกกันว่า “โรคหัวบาตร” หรือ “หัวแตงโม” ซึ่งเกิดจากการที่น้ำหล่อสมองไขสันหลัง (celebrospinal fluid) สะสมอยู่ภายในสมอง
โรคประหลาดนี้ทำให้ศีรษะของ รูนา มีขนาดโตขึ้นเรื่อยๆ จนมีเส้นรอบวงถึง 94 เซนติเมตร ก่อให้เกิดแรงดันภายในสมอง และทำให้เด็กน้อยไม่สามารถที่จะนั่งตัวตรงหรือคลานไปไหนมาไหนได้
หลังเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลเอกชนในเครือ ฟอร์ทิส เฮลธ์แคร์ กรุ๊ป ระหว่างเดือนเมษายน-กรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะนี้เส้นรอบวงศีรษะของ รูนา ลดลงเหลือเพียง 58 เซนติเมตร
นพ.ไวศยา ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกศัลยกรรมประสาท คาดว่าการผ่าตัดครั้งถัดไปที่จะมีขึ้นในอีก 6 เดือน จะช่วยให้ศีรษะของ รูนา เล็กลงได้อีก
“ตอนเธอมาถึงโรงพยาบาลใหม่ๆ แทบจะขยับเนื้อตัวไม่ได้ แต่วันนี้ รูนา สามารถหันศีรษะไปทางซ้ายและขวาได้อย่างง่ายดาย ซึ่งแสดงว่ากล้ามเนื้อที่คอเริ่มจะแข็งแรงขึ้นแล้ว... ขั้นตอนต่อไปคือต้องทำให้เธอนั่งตัวตรงให้ได้” ไวศยา ระบุ
“ระบบประสาทของเธอฟื้นตัวขึ้นจากเดิมมาก มองเห็นได้ดีขึ้น ขยับแขนขาได้มากขึ้น”
พ่อแม่ของ รูนา มีฐานะยากจน และไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่บุตรสาวได้ แต่หลังจากที่ช่างภาพเอเอฟพีได้เก็บภาพของหนูน้อยที่บ้านของเธอในรัฐตริปุระทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และนำไปเผยแพร่ ทางโรงพยาบาลก็เสนอที่จะรักษาให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ภาพดังกล่าวยังเป็นสื่อกลางที่ช่วยระดมธารน้ำใจมาสู่ครอบครัวของรูนา โดยมีคนทั่วโลกสอบถามไปยังสำนักข่าวเอเอฟพีและสำนักข่าวอื่นๆ ว่าจะสามารถบริจาคเงินช่วยเหลือหนูน้อยผู้อาภัพคนนี้ได้อย่างไร