xs
xsm
sm
md
lg

“ธนาคารกลางอังกฤษ” ช่วย “กองทัพนาซี” ลับหลังรัฐบาลอังกฤษ “แอบขายทอง”ที่ปล้นมาจาก “เชโกสโลวะเกีย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - จากการเปิดเผยทางเวปไซต์ของธนาคารแห่งประเทศอังกฤษวันอังคาร(30) ที่ผ่านมาระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ ได้มีส่วนสำคัญในการเคลื่อนย้ายและขายทองที่กองทัพนาซีเยอรมันได้ปล้นมาจากเชโกสโลวะเกียในปี 1938 หลังจากบุกเข้ายึดประเทศนั้น โดยไม่แจ้งรัฐบาลอังกฤษในสมัยนั้นรับทราบ ทั้งนี้ตามเอกสารเก่าของธนาคารกลางอังกฤษแห่งนี้ที่เพิ่งนำออกมาเปิดเผย

ช่วงยุค 1930 เหตุเพราะรัฐบาลเชโกสโลวาเกีย(ในปัจจุบันคือ สาธารณรัฐเช็ก และสาธารณรัฐสโลวัก)ได้เผชิญหน้าต่อการคุกคามของกองทัพนาซีตามลำดับ ได้ฝากทองไว้กับ ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlement หรือ BIS) และหลังจากที่กองทัพนาซีเยอรมันได้เข้าบุกยึดเชโกสโลวาเกียในปี 1939 เยอรมันได้พยายามเคลื่อนย้ายและขายทองของเชโกสโลวาเกียภายใต้การจัดการของธนาคารกลางเยอรมนีในเวลานั้นที่ใช้ชื่อว่า Reichsbank

จากการเปิดเผยของเอกสารพบว่าคำขอการย้ายทองคำมูลค่า 5.6ล้าน ปอนด์ในสมัยนั้น เกิดขึ้นในปี 1939 จากบัญชีของธนาคารชาติของเชโกสโลวะเกียใน BIS มาสู่บัญชีของธนาคารเยอรมนี Reichsbank ซึ่งเปิดบัญชีอยู่ใน BIS เช่นกัน โดยที่ทองราว 4 ล้านปอนด์ได้ถูกย้ายไปที่ธนาคารกลางเนเธอร์แลนด์และธนาคารกลางเบลเยียมตามลำดับ โดยส่วนที่เหลือนั้นถูกขายในกรุงลอนดอน

จากเอกสารธนาคารกลางอังกฤษกว่า 10 หน้าที่ออกเผยแพร่บนเวปไซต์ของธนาคาร เผยว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศอังกฤษในสมัยนั้น เซอร์ มองตากู นอร์แมน ได้ปฎิเสธการรับโทรศัพท์จากธนาคารกลางฝรั่งเศสที่ต้องการระงับการเคลื่อนย้ายทองของเชโกสโลวะเกีย เหตุเพราะการทำดังกล่าว “เป็นสิ่งที่ผิดและอาจเป็นอันตรายต่ออนาคตของธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ” และนอร์แมน ยังปฎิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลนี้ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอังกฤษในสมัยนั้น เซอร์ จอห์น ไซมอน ที่ตั้งคำถามต่อผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษใน 2 เดือนหลังจากการบุกยึดของเชโกสโลวะเกียโดยกองทัพนาซี ว่าทางธนาคารแห่งประเทศอังกฤษยังเก็บรักษาทองของเชโกสโลวะเกียอยู่หรือไม่ โดยนอร์แมนตอบเพียงว่า ทางธนาคารกลางอังกฤษ ทำหน้าที่ถือครองทองให้แก่ BIS อยู่เป็นครั้งเป็นครั้งคราว โดยไม่ทราบว่าทองดังกล่าวเป็นของ BIS เอง หรือของลูกค้าของ BIS ดังนั้นจึงไม่สามารถบอกได้ว่าทองที่เก็บรักษาอยู่นั้นเป็นของเชโกสโลวะเกียหรือไม่

แพทริค เจนกิน บรรณาธิการการเงินของนิตยสารไฟแนนเชียลไทม์ ระบุว่าการเคลื่อนย้ายและขายทองในครั้งนั้นทำโดยที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดต่อรัฐบาลอังกฤษในสมัยนั้น ซึ่งยุ่งอยู่กับการทำสงครามกับกองทัพนาซีของฮิตเลอร์

กำลังโหลดความคิดเห็น