xs
xsm
sm
md
lg

รบ.ญี่ปุ่นปรับยุทธศาสตร์ความมั่นคง จ่อพิจารณาใช้การ “ชิงโจมตีก่อน” หวังสกัดภัยคุกคามจีน-เกาหลีเหนือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ
เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมพิจารณาหาข้อสรุปเกี่ยวกับการเปิดฉากโจมตีก่อน (pre-emptive strike) ต่อสิ่งที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของตน ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศ ซึ่งมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเชิงสันติมาโดยตลอดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

รายงานเบื้องต้นว่าด้วยการทบทวนด้านยุทธศาสตร์ ซึ่งมีข้อเสนอให้ญี่ปุ่นมีสิทธิ์โดยชอบธรรมในการเปิดฉากโจมตีต่อภัยคุกคามก่อน ไม่ต่างจากการส่งสัญญาณเตือนไปยังเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีน และถือเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ผู้นำสายเหยี่ยวที่มีจุดยืนต้องการเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารให้ญี่ปุ่น เพื่อรับมือภัยคุกคามด้านความมั่นคงทั้งจากจีนและเกาหลีเหนือ

โยมิอูริ ชิมบุง หนังสือพิมพ์ชื่อดังของญี่ปุ่นรายงานว่า ทางกระทรวงป้องกันประเทศเตรียมนำรายงานฉบับนี้ไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาทางปรับปรุงขีดความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ ต่อไป ก่อนที่จะมีการจัดทำข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมในขั้นสุดท้ายในช่วงปลายปีนี้ นับเป็นการทบทวนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงครั้งแรกของญี่ปุ่นนับตั้งแต่ที่พรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี (แอลดีพี) ได้หวนคืนสู่อำนาจเมื่อปลายปีที่แล้ว

โดยหนึ่งในแนวทางเสริมเขี้ยวเล็บของญี่ปุ่น ที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นความจริงมากที่สุดในอนาคตอันใกล้นี้ น่าจะครอบคลุมถึงการจัดซื้ออากาศยานรบไร้นักบิน หรือ “โดรน” เข้าประจำการ รวมทั้งการจัดตั้งกองกำลังนาวิกโยธิน สำหรับดูแลปกป้องอธิปไตยของบรรดาหมู่เกาะต่างๆ ที่ตกเป็นข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ดี มารุชิเกะ มิจิชิตะ ศาสตราจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตแห่งชาติว่าด้วยนโยบายศึกษาให้ความเห็นว่าความพยายามในการปรับยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงใหม่ของรัฐบาล ชินโซ อาเบะ โดยเฉพาะการชิงลงมือโจมตีสกัดกั้นภัยคุกคามก่อนนั้น แม้จะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของญี่ปุ่นในระยะยาว และสอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นในประเทศ แต่ก็เป็นเรื่องที่ยากจะประสบความสำเร็จได้อย่างเต็มร้อย

ศาสตราจารย์ มิจิชิตะ ระบุว่า เป้าหมายดังกล่าวต้องใช้ทั้งเวลา งบประมาณ และการฝึกอบรมอย่างมหาศาล อีกทั้งยังมีอุปสรรคจากบทบัญญัติตามมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ญี่ปุ่นสละซึ่งอำนาจในการก่อสงคราม และไม่ยอมรับการมีตัวตนของกองทัพเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นสามารถมีได้เพียงกองกำลังป้องกันตนเองเท่านั้น



กำลังโหลดความคิดเห็น