เอเอฟพี - อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เอ่ยวิจารณ์สหรัฐฯ ว่าเป็นชาติที่ “ไว้ใจไม่ได้” วานนี้(21) หลังจากอดีตเจ้าหน้าที่และสมาชิกรัฐสภาอเมริกันหลายคนเรียกร้องให้วอชิงตันผูกสัมพันธไมตรีกับ ฮัสซัน รอฮานี ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่าน
“ข้าพเจ้าขอกล่าวในโอกาสขึ้นปีใหม่ (อิหร่าน)ว่า ข้าพเจ้าไม่คาดหวังอะไรในการเจรจากับสหรัฐฯ แม้ที่ผ่านมาข้าพเจ้าจะไม่เคยคัดค้านการเจรจากับพวกเขาในบางเรื่อง เช่น กรณีอิรัก ก็ตามที” คอเมเนอี กล่าวต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงในงานเลี้ยงละศีลอด ซึ่งมีว่าที่ประธานาธิบดี รอฮานี และประธานาธิบดี มะห์มูด อาห์มาดิเนจัด ซึ่งใกล้จะอำลาตำแหน่งเข้าร่วมงานด้วย
เมื่อครั้งที่อิหร่านเจรจากับชาติมหาอำนาจเรื่องโครงการนิวเคลียร์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คอเมเนอี ก็เคยออกมากล่าวแล้วครั้งหนึ่งว่า ไม่คาดหวังว่าการพูดคุยโดยตรงกับสหรัฐฯ จะช่วยให้มีอะไรดีขึ้นมา
“พวกอเมริกันไว้ใจไม่ได้ พวกเขาไม่มีความซื่อสัตย์ในการเผชิญหน้า จุดยืนของเจ้าหน้าที่อเมริกันในอดีตเป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่า เราไม่ควรคาดหวังอะไรดีๆทั้งนั้น”
เกือบ 1สัปดาห์ที่แล้ว อดีตเจ้าหน้าที่สหรัฐฯและสมาชิกสภาคองเกรสหลายคน แนะนำให้ประธานาธิบดี บารัค โอบามา เร่งสานสัมพันธ์การทูตกับผู้นำคนใหม่ของอิหร่าน โดยระบุในจดหมายว่า การที่ รอฮานี ได้รับเลือกตั้งถือเป็น “โอกาสดีครั้งสำคัญ” สำหรับสหรัฐฯ
“เราขอสนับสนุนอย่างยิ่งให้รัฐบาลฉวยโอกาสนี้เปิดเจรจาในระดับพหุภาคีและทวิภาคีกับอิหร่านทันทีที่ รอฮานี เข้ารับตำแหน่ง และขอให้หลีกเลี่ยงการกระทำยั่วยุอันจะบั่นทอนโอกาสที่อิหร่านจะหันมาใช้นโยบายเป็นกลางมากขึ้น” จดหมายซึ่งถูกส่งถึง โอบามา ระบุ
ผู้นำสูงสุดอิหร่านชี้ว่า “ในการมีปฏิสัมพันธ์กับทั่วโลก ท่านจะต้องใช้ทักษะในการปกป้องแนวทางของตนเอง โดยไม่ปล่อยให้ผู้อื่นมาขัดขวางได้ ไม่เช่นนั้นท่านก็จะเป็นผู้แพ้” ซึ่งก็มีนัยยะถึงแผนการเจรจานิวเคลียร์กับมหาอำนาจตะวันตกในอนาคต หลังจากที่ รอฮานี จะเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจาก อาห์มาดิเนจัด
รอฮานี ซึ่งเป็นอดีตผู้แทนเจรจานิวเคลียร์ของอิหร่าน ได้ลั่นวาจาว่าจะนำพาอิหร่านเข้าไปมีส่วนร่วมกับประชาคมโลกอย่างสร้างสรรค์ และลดความตึงเครียดที่เกิดจากนโยบายนิวเคลียร์ด้วย
“นโยบายต่างประเทศที่เป็นกลางไม่ได้หมายถึงการยอมแพ้หรือเผชิญหน้า แต่หมายถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับทั่วโลกอย่างสร้างสรรค์ และมีประสิทธิภาพ” รอฮานี เผย
สหรัฐฯ เป็นตัวตั้งตัวตีผลักดันให้ทั่วโลกรุมคว่ำบาตรน้ำมันอิหร่าน ซึ่งถือเป็นสินค้าออกที่ทำรายได้ให้กับเตหะรานอย่างมากมาย ทั้งนี้ก็เพื่อกดดันให้อิหร่านต้องยุติกิจกรรมนิวเคลียร์ ซึ่งชาติตะวันตกและอิสราเอลเชื่อว่ามีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาระเบิดปรมาณู