รอยเตอร์ – สำนักข่าวรอยเตอร์ตีแผ่รายงานที่ว่าทหารเรือไทยเข้าไปมีส่วนพัวพันกับขบวนการลักลอบค้ามนุษย์ชาวมุสลิมโรฮิงญา ซึ่งหลบหนีเหตุรุนแรงระหว่างศาสนาในพม่า ขณะที่กองทัพเรือออกมาปฏิเสธแล้วว่า ไม่มีมูลความจริง
จากการตรวจสอบของรอยเตอร์ซึ่งอ้างคำให้การของกลุ่มผู้ค้ามนุษย์และชาวโรฮิงญาพบว่า เจ้าหน้าที่กองทัพเรือไทยมีส่วนลักลอบขนชาวโรฮิงญาหลายพันคนไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ซึ่งชาวมุสลิมโรฮิงญามองว่าเป็นสถานพักพิงที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา โดยเครือข่ายค้ามนุษย์เหล่านี้จะมีศูนย์กลางอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันตกของไทย
น.อ. วิพันธุ์ ชมะโชติ รองเลขานุการกองทัพเรือ ยืนยันว่า “ข้อกล่าวหาเหล่านี้ไม่เป็นความจริงเลย... เราไม่เคยพบหลักฐานว่าทหารของเราล่วงละเมิดชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ลักลอบเข้าประเทศ และไม่มีธุรกรรมการเงินที่มีจุดประสงค์ไปในทางค้ามนุษย์ด้วย”
น.อ. วิพันธุ์ ระบุว่า อาจเป็นไปได้ที่แก๊งค้ามนุษย์และชาวโรฮิงญาเข้าใจผิดว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นทหารเรือ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงในหน่วยงานอื่นของไทยมีส่วนในการค้ามนุษย์
การลาดตระเวนพื้นที่ชายฝั่งนอกจากจะเป็นภารกิจกองทัพเรือแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการตำรวจน้ำ และกองกำลังอาสาสมัครภายใต้การดูแลของผู้บัญชาการทหารเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาเรียกร้องวานนี้(19) ให้รัฐบาลไทยเร่งตรวจสอบข้อกล่าวหา ซึ่งระบุอยู่ในรายงานของรอยเตอร์
“เราได้ทราบรายงานจากสื่อ... จึงขอให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจังและโปร่งใส สหรัฐฯมีความห่วงใยสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของกลุ่มพลเมืองที่เปราะบางในพม่า รวมไปถึงผู้ลี้ภัยและผู้ที่ต้องการขอลี้ภัยตามแนวชายแดนพม่าด้วย” มารี ฮาร์ฟ รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลง
นานาชาติต่างกดดันให้ไทยเร่งกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์ โดยรายงานประจำปีของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ว่าด้วยการต่อต้านแรงงานทาสในยุคใหม่มีชื่อประเทศไทยอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังขั้นที่ 2 มา 4 ปีซ้อน ซึ่งหากไทยตกไปอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังขั้นที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นร้ายแรงที่สุด ก็อาจถูกลงโทษด้วยมาตรการคว่ำบาตร เช่น หมดสิทธิ์รับความช่วยเหลือจากธนาคารโลก เป็นต้น
น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งวานนี้(19) ให้กระทรวงแรงงานเข้าตรวจสอบและจัดการกับผู้ที่มีส่วนพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ แต่ไม่ได้เอ่ยถึงข้อกล่าวหาของรอยเตอร์
ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการ ฮิวแมนไรต์ วอตช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย ระบุว่า “สิ่งที่รอยเตอร์นำมาเปิดโปงควรเป็นแรงกระตุ้นให้นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ สั่งตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง... แต่จนบัดนี้ดูเหมือนจะมีเพียงการตรวจสอบอย่างผิวเผินที่มุ่งปกปิดความผิด มากกว่าจะสาวลึกลงไปถึงตัวต้นเหตุ”
ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาและสมาชิกแก๊งค้ามนุษย์เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า ชาวโรฮิงญาที่ไม่มีเงินจ่ายค่าผ่านทางจะถูกส่งให้กับขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งบางครั้งก็จะขายพวกเขาไปใช้แรงงานหนักในฟาร์ม หรือถูกใช้งานเยี่ยงทาสบนเรือประมง ซึ่งก็หมายความว่าชาวโรฮิงญาเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมส่งออกอาหารทะเลไทยที่มีมูลค่าถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีกลุ่มลูกค้าทั้งในสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น และยุโรป
ผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอตช์ ชี้ว่า รัฐบาลไทยมักอ้างว่าจริงจังกับปัญหาการค้ามนุษย์ แต่กลับไม่มีรัฐมนตรีรายใดออกมายอมรับว่า การใช้แรงงานทาสคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในอุตสาหกรรมประมงไทย
“อุตสาหกรรมประมงไทยยังคงปฏิเสธความรับผิดชอบ และเนื่องจากคนเหล่านี้มีอิทธิพลทางการเมือง พวกเขาจึงสามารถขัดขวางใครก็ตามที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีทางของธุรกิจประมง” โรเบิร์ตสัน ระบุ