เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - เมื่อสามปีที่แล้วครอบครัวแซหลี่ได้เป็นพ่อคนแม่คนสมปรารถนา ด้วยความช่วยเหลือจากคุณแม่อุ้มบุญชาวไทยคนหนึ่ง
แต่พวกเขาก็เหมือนกับคู่สามีภรรยาชาวไต้หวันอื่นๆ ซึ่งตกที่นั่งเดียวกัน โดยพวกเขาถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องหาแม่อุ้มบุญในต่างแดน เพราะการดำเนินการเช่นนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในไต้หวัน
“คู่สามีภรรยาที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงไม่มีทางเข้าใจความลำบากและความเจ็บปวด ที่พวกเราต้องเผชิญหรอก พวกเราได้ลองทำทุกอย่างที่ทำได้แล้ว” หลี่ นักธุรกิจในกรุงไทเปวัย 40 ปี ผู้ซึ่งไม่ประสงค์จะระบุชื่อเต็ม กล่าวกับเอเอฟพี
เขาและภรรยาวัย 35 ปีก็เคยพิจารณาถึงการอุปการะบุตรบุญธรรมแล้ว “แต่ในเมื่อเรายังพอมีหนทางที่จะมีลูกที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของตัวเอง การมีผู้รับอุ้มท้องแทนจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด” เขาชี้แจง
“พวกเราอิจฉาคู่อื่นๆ ที่มีลูก และในที่สุดพวกเรารู้สึกว่าชีวิตคู่ของพวกเราจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อเรามีลูกชาย” เขาเอ่ย
ร่างกฎหมายที่จะทำให้การรับอุ้มท้องแทนผู้อื่นเป็นสิ่งถูกกฎหมาย (ซึ่งหมายถึงการที่ผู้หญิงยินยอมที่จะอุ้มท้องลูกของคู่สามีภรรยาอีกคู่หนึ่ง ที่ผ่านวิธีการปฏิสนธิเทียมผ่านหลอดแก้วโดยที่เธอผู้นั้นจะต้องไม่ได้ผลกำไรจากการปฏิบัติดังกล่าว) ยังคงเป็นประเด็นที่ไม่แน่นอนในไต้หวัน ทำให้คู่สามีภรรยาอย่างครอบครัวแซ่หลี่ต้องหันไปพึ่งพาตลาดของธุรกิจการรับอุ้มท้องในสากล
สำหรับชาวไต้หวันเองต่างก็มีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันในประเด็นที่ทั้งเป็นที่ถกเถียง และอ่อนไหวประเด็นนี้ จึงกลายเป็นเหมือนทุ่นระเบิดในด้านกฎหมายและด้านศีลธรรม ซึ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญยังไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นปัญหาต่างๆ ได้แก่ สิทธิของแม่อุ้มบุญ ของครอบครัวชีวภาพ และของทารกในครรภ์
เวลานี้ผู้ที่เป็นนายหน้าหรือแสวงหากำไรจากการรับจ้างตั้งครรภ์อาจถูกตัดสินจำคุก 2 ปี แม้ว่าจะยังไม่มีบทลงโทษสำหรับผู้ว่าจ้างก็ตาม อัยการระบุ
การยินยอมให้การรับตั้งครรภ์แทนผู้อื่นต้องมีลักษณะอย่างไรจึงจะถือว่าถูกกฎหมายนั้นเป็นเรื่องที่มีความแตกต่างหลากหลายกันไปในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เอเชีย ทวีปที่บริการรับตั้งต้องแทนยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในหลายๆ ประเทศ
ทว่า ไม่ใช่กรณีของอินเดีย ซึ่งรัฐบาลยังคงอยู่ในกระบวนการผ่านร่างกฎหมายเพื่อจัดระเบียบธุรกิจการเจริญพันธุ์ของแดนภารตะ ซึ่งกำลังกลายเป็นทางเลือกที่ราคาถูกกว่าในสหรัฐฯ และอังกฤษ ให้แก่คู่สามีภรรยาชาวต่างชาติ
สำหรับออสเตรเลียการเสนอรับตั้งท้องแทนผู้อื่นเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย แต่ทั้งนี้การปฏิบัติต้องผ่านกระบวนการคัดกรองอย่างเข้มงวด ขณะที่จีนก็มีการห้ามไม่ให้รับอุ้มท้องแทน ส่วนญีปุ่น เกาหลี และไทยไม่มีกฎหมายที่มากำหนดสิทธิของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านสาธารณสุขของไต้หวันเริ่มรับพิจารณาที่จะอนุญาตให้การรับตั้งท้องแทนผู้อื่นเป็นสิ่งถูกกฎหมายเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อราว 10 ปีก่อน และได้ร่างกฎหมายขึ้นในปี 2005 แต่ถัดจากนั้นก็ไม่มีความคืบหน้าอย่างจริงจังอะไรเลย
“ขณะที่กำลังมีกระแสเรียกร้องเทคโนโลยีด้านการเจริญพันธุ์ แต่ก็มีความกังวลในด้านศีลธรรมในสังคมบางประการ ทางสำนักงานซึ่งกำลังส่งเสริมให้มีการพูดคุยถกเถียงภายในประเทศ รวมทั้งติดตามแนวทางที่ต่างประเทศใช้ปฏิบัติกันอยู่ เพื่อให้เราสามารถตรากฎหมายที่สมบูรณ์ และขณะเดียวกันก็สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของพวกเรา” สำนักงานส่งเสริมสุขภาพของไต้หวันแถลง
อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มเรียกร้องเพื่อสิทธิสตรีต่างๆ ออกมาต่อต้านประเด็นนี้ โดยพวกเขาโต้แย้งว่าการรับตั้งท้องแทนผู้อื่นคือการตอบสนองความต้องการของคู่สามีภรรยาที่มีฐานะร่ำรวย ขณะที่มองข้ามความเสี่ยงด้านสุขภาพและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับความรู้สึกของแม่อุ้มบุญในช่วงที่เธอตั้งท้องหรือหลังจากนั้น
ทั้งนี้ ตามข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญ ค่าใช้จ่ายสำหรับการหาคนมารับตั้งท้องนั้น คิดเป็นมูลค่าราว 55,000 ดอลลาร์ (ราว 1,705,000 บาท) สำหรับแม่อุ้มบุญชาวไทย และอาจสูงถึง 100,000 ดอลลาร์ (3,100,000) สำหรับแม่อุ้มบุญในสหรัฐฯ ทั้งนี้เป็นยอดที่รวมค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และทางกฎหมาย ตลอดจนค่าตอบแทนของแม่อุ้มบุญแล้ว
“ร่างกายของผู้หญิงไม่ใด้เป็นสินค้าหรือเป็นแค่เครื่องมือ เราต่อต้านคนรวยที่เอาเปรียบหญิงยากจนและจ่ายเงินจ้างพวกเธอเป็นแม่อุ้มบุญ” หวง ซื่ออิง ประธานเครือข่ายสตรีไต้หวัน (Taiwan Women's Link) กล่าว
นอกจากนี้ เธอยังกระตุ้นให้คู่สามีภรรยาไต้หวันพิจารณาไตร่ตรองถึงแนวคิดทางประเพณีในเรื่องของการมีทายาทให้ดีอีกครั้ง และต้องการให้พวกเขา “เปิดใจ” ให้ทางเลือกอื่นๆ เป็นต้นว่า การรับอุปการะเด็กกำพร้า
“ตามประเพณีแล้ว คู่สมรสต้องการที่จะมีลูกชายเพื่อสืบสกุล แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าแม่อุ้มบุญไม่สามารถให้ลูกชายกับพวกเขาได้ ดิฉันไม่คิดว่าเทคโนโลยีจะหาทางออกให้ปัญหาด้านวัฒนธรรมได้” เธอชี้แจง
อย่างไรก็ดี ครอบครัวแซ่หลี่ระบุว่าพวกเขาจ้างแม่อุ้มบุญในประเทศไทยด้วยความยินยอมพร้อมใจกันทั้ง 2 ฝ่าย
“เราไม่ได้บังคับให้เธอมาเป็นแม่อุ้มบุญ เธอต้องการหารายได้และก็สมัครใจ” หลี่กล่าว
ตามคำบอกเล่าของแพทย์หลายราย ในไต้หวันกำลังมีผู้ต้องการแก้ไขภาวะมีบุตรยากเพิ่มมากขึ้น โดยที่ดินแดนแห่งนี้จัดว่ามีอัตราการเกิดต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีคู่สมรสมากขึ้นที่เลือกแต่งงานและมีลูกตอนอายุมากแล้ว
ตามข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย ในปี 2012 อายุโดยเฉลี่ยของผู้หญิงขณะที่คลอดบุตรคนแรกคือ 30.1 ปี
สำหรับตัวเลขประมาณการจำนวนคู่สามีภรรยาชาวไต้หวันที่กำลังมองหาผู้รับอุ้มท้องแทนจากที่ต่างๆ ทั่วโลก นั้นมีตั้งแต่หลายร้อยรายจนไปถึงหลายหมื่นราย