เอเอฟพี - เกาหลีเหนือเมื่อวันพุธ(3) คืนสภาพโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนกับเกาหลีใต้ตามเดิมแล้ว และแจ้งว่าจะอนุญาตให้เหล่านักธุรกิจของโซลเดินทางกลับเข้าไปยังเขตอุตสาหกรรมร่วมที่ปิดดำเนินการมานาน ตามหลังความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสองฝ่าย
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นไม่กี่ชั่วโมง หลังจากบริษัทต่างๆของเกาหลีใต้หลายสิบแห่งขู่จะถอนตัวออกจากเขตอุตสาหกรรมแกซอง ซึ่งตั้งอยู่ในพรหมแดนของเกาหลีเหนือ ด้วยเสียงคร่ำควรญว่าพวกเขาต้องตกเป็นเหยื่อทางการเมืองระหว่างสองชาติคู่อริ
"มีการกู้คืนสายด่วนแล้วในบ่ายวันนี้ หลังจากเกาหลีเหนือตอบรับคำร้องขอของเราที่อยากให้มันคืนสู่ภาวะปกติ" เจ้าหน้าที่รายหนึ่งของกระทรวงรวมชาติเกาหลีใต้ที่ไม่ประสงค์เอ่ยนามรายหนึ่งบอก อ้างถึงแนวโน้มที่ดีขึ้น หลังต้องตกอยู่ท่ามความตึงเครียดสูงสุดและคำขู่เปิดสงครามนิวเคลียร์จากเปียงยางมานานหลายเดือน
ความตึงเครียดเริ่มคลี่คลายตั้งแต่เมื่อเดือนที่แล้ว ด้วยเกาหลีเหนือรื้อฟื้นโทรศัพท์สายด่วนที่หมู่บ้านปันมุนจอม เพื่อการเจรจาระดับสูงเรื่องอนาคตของนิคมอุตสาหกรรมร่วม “แกซอง” แต่เกาหลีเหนือก็ได้ปิดสายอีกครั้ง หลังแผนเจรจาล้มเหลว เนื่องจากตกลงกันไม่ได้เรื่องขัดแย้งด้านต้นร่างปฏิบัติ
แกซอง เขตอุตสาหกรรมที่คนงานเกาหลีเหนือทำงานให้กับโรงงานต่างๆที่มีชาวเกาหลีใต้เป็นเจ้าของ ต้องกลายเป็นเครื่องสังเวยของความตึงเครียดระหว่างสองชาติ ตามหลังเปียงยางทดสอบนิวเคลียร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์
ปฏิบัติการต่างๆในเขตอุตสาหกรรมแกซองมีอันต้องหยุดชะงักลง ไม่นานหลังจากเกาหลีเหนือสั่งห้ามเหล่าผู้จัดการโรงงานและเจ้าหน้าที่อื่นๆที่เป็นชาวเกาหลีใต้เข้าไปยังเขตอุสาหกรรมเมื่อวันที่ 3 เมษายน และจากนั้นราว 1 สัปดาห์ เปียงยาง ก็ถอนคนงานทั้งหมดออกมา
การกลับลำอย่างไม่คาดฝันเมื่อวันพุธ(3) เกาหลีเหนือ ยังส่งสารถึงโซลด้วยว่าเหล่านักธุรกิจและผู้จัดการเกาหลีใต้ จะได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าไปตรวจเยี่ยมเขตอุตสาหกรรม โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นทางให้เจ้าของโรงงานเหล่านั้นใช้มาตรการฉุกเฉินสำหรับป้องกันโรงงานและวัสดุอุปกรณ์จากความเสียหายระหว่างช่วงฤดูฝน พร้อมกันนั้นเหล่าผู้จัดการเกาหลีใต้ก็จะได้ใช้โอกาสนี้พูดคุยหารือกับเพื่อนร่วมงานเกาหลีเหนือด้วย
คำเชิญของเกาหลีเหนือจุดชนวนข่าวลือว่าบางทีเปียงยางอาจพร้อมเปิดเจรจากับเกาหลีใต้ แต่ทางโซลแสดงปฏิกริยาตอบสนองอย่างระมัดระวัง โดยระบุว่าจะทบสวนข้อเสนอและจะให้คำตอบกลับไปในภายหลัง
"ข้อเสนอของเกาหลีหนือ ดูเหมือนว่าจะแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ด้านทัศนคติ แต่เรายังไม่สามารถพูดได้ว่าพวกเขามีความสนใจพูดคุยด้วยน้ำใสใจจริงกับเกาหลีใต้" ยาง มู-จิน จากมหาวิทยาลัยศึกษาเกาหลีเหนือในกรุงโซลบอกกับเอเอฟพี พร้อมระบุว่าเหตุที่เกาหลีเหนือผ่อนคลายท่าที่ที่แข็งกร้าวลงเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา น่าจะเป็นเพราะแรงกดดันจากจีน แต่เกาหลีใต้ก็ยังไม่ไว้วางใจนัก