เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ในขณะที่สงครามซีเรียกำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีเด็กซีเรียเป็นจำนวนมากที่ต้องขาดโอกาสทางการศึกษามานานนับปี แม้โชคดีที่เพื่อนบ้านอย่างเลบานอนช่วยเหลือเรื่องสถานที่เรียน แต่หลักสูตรการศึกษาที่แตกต่างกันมาก และความเลวร้ายของสงครามทำให้เด็กๆ ผู้ลี้ภัยมองไม่เห็นอนาคตและมีปัญหาทางสภาพจิตใจ
รีฮาม ออธมาน เด็กสาววัย 19 ปี เป็นคนหนึ่งซึ่งถูกสงครามซีเรียบีบบังคับให้ต้องมาสอบไล่ชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ทางภาคเหนือของประเทศเลบานอน เธอร่ำไห้ด้วยความกลัวว่าทางการเลบานอนจะไม่ให้เธอจบการศึกษา
ที่ร้ายกว่านั้น คือ เธอยังกลัวอีกว่าความฝันที่อยากจะเป็นนักข่าวจะไม่มีวันเป็นจริง
ขณะที่กำลังจ้องมองโต๊ะเขียนหนังสือ สีหน้าของออธมานฉายแววของความกังวลอย่างเห็นได้ชัด
“หนูรู้ดีว่าพอสอบเสร็จแล้ว ก็ยังจะไม่มีมหาวิทยาลัยไหนรับหนูเข้าเรียน” ออธมานซึ่งขาดเรียนไป 1 ปี เพราะเกิดสงครามซีเรียเอ่ยขึ้น
ออธมานคือหนึ่งในนักเรียนชาวซีเรีย 600 คน ที่ย้ายมาเรียนชั้นมัธยมปลายที่ทริโปลี เมืองที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของเลบานอน ซึ่งต้องขอบคุณความช่วยเหลือจากมูลนิธิของศาสนาอิสลาม
นักเรียนส่วนใหญ่ซึ่งกำลังสอบที่ทริโปลี เป็นผู้พลัดถิ่นจากฮอมส์ จังหวัดในภาคกลางของซีเรียที่ได้รับความเสียหายจากสงครามอย่างหนัก
มีนักเรียนจำนวนมากที่มาเลบานอนโดยไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนติดตัวมา และคนอื่นๆ ที่ไม่มีใบรับรองการศึกษาจากประเทศซีเรีย เด็กๆ ผู้ลี้ภัยกลัวว่าทางการเลบานอนจะไม่ยอมรับผลการศึกษาของพวกเขา
“หลังจากตรวจข้อสอบเสร็จแล้วเราจะส่งไปที่ "พันธมิตรแห่งชาติ" (National Coalition) ซึ่งเป็นกลุ่มฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดของซีเรีย ที่จะเป็นผู้ตัดสินว่าพวกเขาจะผ่านเกณฑ์หรือไม่” ซะกะรียา ซับบาก ผู้อำนวยการฝ่ายการสอนของมูลนิธิอิสลามเพื่อการศึกษา (Islamic Education) ชี้แจง
มูลินิธิของซับบากเชื่อมโยงกับ “จามาอิสลามิยา” ของเลบานอน ซึ่งเป็นสาขาของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ในเลบานอน
นักเรียนถูกจัดให้สอบในโรงเรียน 2 แห่งที่ขึ้นอยู่กับจามาอิสลามิยา ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนการต่อต้านบาชาร์ อัล-อัสซาด ประธานาธิบดีของซีเรีย
ความลำบากที่ออธมานต้องเผชิญอีกอย่าง คือ ปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับหลักสูตรการศึกษาของเลบานอน
“การเรียนการสอนของซีเรียกับเลบานอนมีความแตกต่างกัน ซึ่งข้อสอบของที่นี่ยากกว่า ที่เลบานอนเราต้องเรียนรู้ด้วยการคิดวิเคราะห์ ส่วนที่ซีเรียเราเรียนรู้ทุกอย่างด้วยการท่องจำ” เธอกล่าว
ที่เลบานอน ออธมานต้องพบอุปสรรคทางด้านภาษาเหมือนกับเด็กผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ เป็นต้นว่าที่ซีเรียสอนวิชาวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอาหรับทั้งหมดในขณะที่ในเลบานอนสอนเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส
ทั้งนี้มูลนิธิอิสลามเพื่อการศึกษาได้พยายามแก้ปัญหาให้เด็กๆ ด้วยการแปลตำราในวิชาเหล่านี้เป็นภาษาอาหรับ
แต่กระนั้นก็ยังไม่มีการช่วยเหลือใดๆ ที่สามารถลบบาดแผลในจิตใจของเด็กๆ ได้
“พวกเขามีปัญหาทางด้านจิตใจ โดยบางคนสูญเสียพ่อแม่ บางคนเห็นบ้านตัวเองพังลงไปตรงหน้า และอีกจำนวนมากที่ต้องประสบความยากลำบากในการออกจากประเทศ” อุมม์ ตอเร็ก ผู้ตรวจการคนหนึ่งของโรงเรียนกล่าว
องค์การสหประชาชาติแถลงว่ามีผู้ลี้ภัยชาวซีเรียมากกว่า 530,000 คนในเลบานอน โดยที่กว่าครึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี