เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เผย มีผู้คนกว่า 7.6 ล้านคนทั่วโลกต้องกลายเป็น “ผู้ลี้ภัย” ในปีที่แล้ว ถือเป็นการพุ่งสูงที่สุดของจำนวนผู้ลี้ภัยทั่วโลก นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1994 เป็นต้นมา
รายงานของ UNHCR ซึ่งมีการเผยแพร่ที่สำนักงานใหญ่ในนครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า ราว 55 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ลี้ภัย7.6 ล้านคนทั่วโลกในปี 2012 มาจาก 5 ประเทศ คือ ซีเรีย ซูดาน อิรัก โซมาเลีย และอัฟกานิสถาน ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนากลายเป็นแหล่งที่มีจำนวนผู้ลี้ภัยมากกว่า 81 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ลี้ภัยทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 11 เปอร์เซ็นต์จากเมื่อ 1 ทศวรรษก่อน
ด้านอันโตนิว มานูเอล เด โอลิเวรา กูเตร์เรช ข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติชาวโปรตุเกส เผยว่า ในทุกๆ 4.1 วินาที โลกของเราจะมีผู้ลี้ภัยรายใหม่เพิ่มขึ้น 1 คน โดยอัฟกานิสถานยังคงครองอันดับที่ 1 ในฐานะดินแดนต้นตอของผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ดินแดนแห่งไฟสงครามแห่งนี้ผูกขาดครองมานานถึง 32 ปีติดต่อกันแล้ว โดยกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของผู้ลี้ภัยจากอัฟกานิสถาน ได้หลบหนีเข้าไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอิหร่านและปากีสถาน
ส่วนในซีเรียนั้น มีข้อมูลว่า จำนวนผู้ที่ต้องหนีภัยการสู้รบภายในประเทศ ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาได้เพิ่มเป็นมากกว่า 1 ล้านคนแล้ว และหากสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อเข้าสู่ปีที่ 3 ยังคงดำเนินต่อไป คาดว่า จะมีผู้อพยพจากซีเรียอีกกว่า 2 ล้านคนหลบหนีออกนอกประเทศภายในสิ้นปีนี้
ขณะที่ มาลี และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สองดินแดนแห่งความขัดแย้งในทวีปแอฟริกากำลังกลายเป็นพื้นที่ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษว่าอาจเกิดคลื่นผู้ลี้ภัยระลอกใหญ่ หลังเกิดความไม่สงบภายในประเทศ โดยข้อมูลของ UNHCR ระบุว่า ลำพังในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เพียงประเทศเดียวก็มีผู้ลี้ภัยสงครามกว่า 800,000 รายแล้วนับตั้งแต่เกิดการสู้รบระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกลุ่มกบฏ “M23” เมื่อปีที่แล้ว