xs
xsm
sm
md
lg

ช่วงเวลาแห่ง‘โมนิกา ลูวินสกี’ของโอบามา (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Obama's Monica moment
By M K Bhadrakumar
14/06/2013

ตลอดช่วงแห่งการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของบารัค โอบามา ได้มีความพยายามเรื่อยมาที่จะสร้างหน้าฉากซึ่งฉาบทาไว้ด้วยภาพลักษณ์แห่งความยึดมั่นหลักศีลธรรมอันสูงส่งตั้งตระหง่าน ทว่าในขณะนี้ภาพลักษณ์ดังกล่าวกำลังถูกเปิดโปงออกมาจนเปลือยเปล่ามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อการโกหกเรื่องแล้วเรื่องแล้วถูกแฉโพย ในท่ามกลางความอับจนจากการที่สาธารณชนกำลังจับจ้องอยู่ที่บ่อเกรอะสิ่งสกปรกโสโครกแห่งระบบสอดแนมลับสุดยอดที่ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน นำออกมาตีแผ่เผยโฉมอยู่นี้ การที่โอบามาตัดสินใจที่จะเบี่ยงเบนหันเหความสนใจของผู้คน ด้วยการประกาศเดินหน้าดำเนินกโลบายเข้าแทรกแซงทางทหารในซีเรีย แท้ที่จริงแล้วมันคือ เสียงระฆังบอกกล่าวมรณกรรมของ “ความหวังที่เต็มไปด้วยความห้าวหาญ” ซึ่งเป็นถ้อยวลีโวหารที่เขาชื่นชอบใช้เป็นมนตรามัดใจผู้คน ความเคลื่อนไหวของโอบามาคราวนี้มีส่วนคล้ายคลึงเป็นอย่างมากกับตอนที่ บิล คลินตัน พยายามใช้การโจมตีอัฟกานิสถาน มาเป็นเสื้อเกราะกันกระสุนจากกรณีอื้อฉาวถูกแฉว่ามีสัมพันธ์สวาทกับ “โมนิกา ลูวินสกี” เจ้าหน้าที่ฝึกงานในทำเนียบขาว และก็อาจจะก่อให้เกิดผลพวงต่อเนื่องอันไม่น่าพิสมัยและมิได้ตั้งใจ ติดตามมาเช่นเดียวกันด้วย

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

**“ซัมมิตโอบามา-สีจิ้นผิง”และ“สโนว์เดน”**

ทว่าจุดที่สำคัญที่สุดก็คือ การตัดสินใจของทำเนียบขาวในเรื่องเกี่ยวกับซีเรียนี้ อาจจะเป็นความคิดที่แวบขึ้นมาในระหว่างที่ โอบามา นั่งอยู่ใน “แอร์ฟอร์ซ วัน” (Air Force One) เครื่องบินประจำตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกัน ที่กำลังพาเขาเดินทางกลับไปยังกรุงวอชิงตัน ภายหลังการพบปะประชุมสุดยอดในรีสอร์ตหรูหรากลางทะเลทรายของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน โดยที่ปกติธรรมดาแล้วเรื่องการหารือเป็นครั้งแรกระหว่างเขากับ สี นับตั้งแต่ผู้นำแดนมังกรก้าวขึ้นรับตำแหน่งคราวนี้ ย่อมสมควรที่จะกลายเป็นข่าวใหญ่อันดับหนึ่ง ทว่ามันมิได้เป็นเช่นนั้นหากแต่ตกลงมาอยู่ในอันดับสอง เนื่องจากในช่วงนั้นเอง เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตลูกจ้างของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ได้ออกมาแฉโพยเรื่องโปรแกรมสอดแนมลับสุดยอดของทางการอเมริกัน ซึ่งก่อให้เกิดความตื่นตะลึงไปทั่ว

กล่าวโดยภาพรวมแล้ว การที่โอบามาตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะเข้าร่วมการแทรกแซงทางการทหารในซีเรีย ซึ่งอาจจะหมายถึงการเปิดฉากสงครามเย็นครั้งใหม่ แท้ที่จริงคือความเคลื่อนไหวอย่างจนตรอกเพื่อพยายามหันเหเบนความสนใจ ในเมื่อคณะรัฐบาลของเขาถูกจับได้คาหนังคาเขาขณะจมลึกอยู่ในบ่อเกรอะสิ่งสกปรกโสโครกจากการเปิดโปงของ สโนว์เดน ซึ่งก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างดุเดือดกว้างขวาง

หน้าฉากซึ่งฉาบทาไว้ด้วยภาพลักษณ์แห่งความยึดมั่นในหลักศีลธรรมสูงส่งตั้งตระหง่าน ที่โอบามาอุตสาหะจัดสร้างขึ้นมาในยุคการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา รวมทั้งบรรดาค่านิยมอันน่ายกย่องที่เขานำเอามาบรรจุไว้ในแกนกลางของถ้อยวลีโวหารแห่ง “ความหวังที่เต็มไปด้วยความห้าวหาญ” (audacity of hope) ของเขา เมื่อตอนที่เขาประกาศเริ่มต้นการเดินทัพทางไกลเพื่อช่วงชิงทำเนียบขาวเมื่อ 5 ปีก่อน –อันได้แก่ ความโปร่งใส, ความรับผิดชอบ, ความถูกต้องชอบธรรม, พหุนิยม, และฉันทามติ-- มาถึงเวลานี้ได้แตกสลายถล่มทลายลงมาทับถมกันเป็นกองพะเนินแห่งการโกหกหลอกลวงไปเสียแล้ว

หัวใจของเรื่องนี้ก็คือ โอบามาอยู่ในสภาพอันยากลำบากเสมือนตกอยู่ท่ามกลางเขาควายแหลมเปี๊ยบที่ทำท่าจะทิ่มแทงเอาให้บรรลัย เฉกเช่นเดียวกับที่ บิล คลินตัน เคยพบว่าตนเองอยู่ในฐานะอันกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอย่างนั้น ภายหลังถูกแฉเรื่องการมีสัมพันธ์สวาทกับ โมนิกา ลูวินสกี (Monica Lewinsky) เจ้าหน้าที่ฝึกงานในทำเนียบขาว แล้วด้วยความพยายามอย่างจนตรอกที่จะเบี่ยงเบนความสนใจของทั่วโลก เขาจึงตัดสินใจใส่ยิงจรวดร่อน (cruise missiles) เข้าถล่มเมืองกันดาฮาร์ (Kandahar) ของอัฟกานิสถาน ในเดือนสิงหาคม 1998

โอบามาก็เช่นกัน มีความจำเป็นต้องดิ้นรนหาทางหันเหความสนใจ เพราะตอนนี้ยังเป็นช่วงวันแรกๆ ก็จริงอยู่ แต่พวกสื่อมวลชนของรัฐบาลในจีนก็ได้เริ่มต้นวิพากษ์วิจารณ์กรณีสโนว์เดนกันแล้ว ทั้งนี้ ในรายงานชิ้นหนึ่งของหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ (China Daily) ซึ่งพาดหัวชื่อเรื่องว่า “โปรแกรมสอดแนมเป็นบททดสอบสายสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ” (Surveillance program a test of Sino-US ties) และนำออกเผยแ พร่ในวันพฤหัสบดี (13 มิ.ย.) ได้กลายเป็นผู้ทำลายความเงียบเฉยของสื่อทางการแดนมังกรในประเด็นนี้ รายงานชิ้นดังกล่าวได้เหน็บแนมเสียดสีคณะรัฐบาลโอบามา ด้วยการเสนอความเห็นว่า เรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์สเปซ สามารถที่จะใช้เป็น “อาณาจักรใหม่แห่งความร่วมมือกัน” ระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตันได้จริงๆ โดยที่ ไชน่าเดลี่ บอกเอาไว้อย่างนี้:

“วิธีการในการจัดการกับกรณีนี้ สามารถที่จะสร้างความท้าทายให้แก่ไมตรีจิตมิตรภาพระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตันที่อยู่ในสภาพเพิ่งเริ่มแตกหน่ออ่อน เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า สโนว์เดนเวลานี้อยู่ในดินแดนของจีน (นั่นคืออยู่ในฮ่องกง) และความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯก็เกิดความเหม็นบูดเสมอมาเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์สเปซ”

สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ รายงานชิ้นนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่า สโนว์เดนนั้น “กำลังพำนักพักพิงอยู่ในฮ่องกง ห่างไกลจากเงื้อมมือการตามไล่ล่าของวอชิงตัน” จากนั้นก็ได้หันไปพูดเน้นย้ำว่า มอสโกก็กำลังเสนอให้ที่ลี้ภัยแก่บุคคลผู้กำลังหลบหนีผู้นี้ แล้วรายงานก็จบลงด้วยการอ้างคำพูดของนักวิชาการชาวจีนชื่อดังคนหนึ่งที่บอกว่า:

“ถ้าหากสามารถจัดการกับกรณีนี้ได้อย่างประสบความสำเร็จแล้ว ก็จะได้รับการอ้างอิงกันต่อไปในฐานะที่เป็นบรรทัดฐานอันทรงอิทธิพลระหว่างประเทศทั้งสอง เนื่องจากในปริมณฑลทางด้านความมั่นคงปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตของโลกนั้น เวลานี้ยังคงไม่ได้มีระเบียบกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศอันชัดเจน”

ต่อมาในวันศุกร์ (14 มิ.ย.) โกลบอลไทมส์ (Global Times หนังสือพิมพ์ในเครือของเหรินหมินรึเป้า กระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน) ได้เผยแพร่บทบรรณาธิการที่ระบุว่า “จีนสมควรที่จะได้รับคำอธิบาย” จากคณะรัฐบาลโอบามา เนื้อหาที่น่าสนใจมากของบทบรรณาธิการชิ้นนี้ มีดังนี้:

“การเปิดโปงของสโนว์เดนเกี่ยวกับเรื่องที่สหรัฐฯทำการโจมตีทางไซเบอร์ต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในฮ่องกงและแผ่นดินใหญ่ เป็นเรื่องที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับผลประโยชน์แห่งชาติของจีน รัฐบาลจีนจึงควรเรียกร้องข้อมูลข่าวสารอันหนักแน่นมากยิ่งขึ้นอีกจากสโนว์เดน ถ้าหากเขามีข้อมูลข่าวสารดังกล่าวอยู่ แล้วก็ใช้มันในฐานะที่เป็นหลักฐานในเวลาทำการเจรจากับสหรัฐฯ ... มติของประชาชนจะหันกลับมาเล่นงานรัฐบาลส่วนกลางของจีนและรัฐบาลของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ถ้าหากพวกเขาเลือกที่จะส่งตัวเขา (สโนว์เดน) กลับไป ... สโนว์เดนเป็น “ไพ่” ใบหนึ่งซึ่งจีนไม่เคยคาดหมายมาก่อนว่าจะตกมาอยู่ในมือของตน”

**ผลกระทบต่อพลวัตทางอำนาจ**

ทั้งไชน่าเดลี่ และเหรินหมินรึเป้า ยังต่างเผยแพร่รายงานอีกชิ้นหนึ่งในวันศุกร์ (14 มิ.ย.) ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า สหรัฐฯนั้น “ยังติดค้างจีนอยู่ โดยจะต้องอธิบายชี้แจงให้ทราบเกี่ยวกับกิจกรรมการแฮกระบบคอมพิวเตอร์ของฝ่ายอเมริกัน รวมทั้งควรต้องแสดงความจริงใจให้มากขึ้นในอนาคตในเวลาที่มีปฏิสัมพันธ์กันในเรื่องความร่วมมือพื่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์” รายงานชิ้นนี้ยังประเมินว่า “วอชิงตันในเวลานี้ตกอยู่ในฐานะอันอึดอัดเคอะเขิน เมื่อพิจารณาถึงการพิพาทเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ฝ่ายนั้นมีอยู่กับปักกิ่ง”

การตั้งข้อสังเกตในแนวแซวเล่นขำๆ เช่นนี้ ทำให้เป็นที่กระจ่างแจ้งว่า ปักกิ่งนั้นเป็นฝ่ายที่ถือไพ่เหนือกว่า –และปักกิ่งก็ทราบว่าวอชิงตันนั้นรู้เช่นกันว่าตนเป็นฝ่ายที่ถือไพ่ดีกว่า— ไม่ว่ากรณีสโนว์เดนที่ทำท่ากลายเป็นเรื่องราวระดับตำนานนี้ จะคลี่คลายออกไปในทางใดในระยะเวลาหลายๆ เดือน (หรือกระทั่งหลายๆ ปี) ต่อจากนี้ไป

ยุทธวิธีกการเบี่ยงเบนความสนใจของ บิล คลินตัน ในเดือนสิงหาคม 1998 ได้ก่อให้เกิดผลพวงต่อเนื่องอันวิบัติร้ายแรงตามมา โดยที่กลายเป็นชนวนกระตุ้นให้เกิดลำดับเหตุการณ์ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่กรณีวินาศกรรม 9/11 และถัดจากนั้นสหรัฐฯก็เข้าไปแทรกแซงในอัฟกานิสถาน (ซึ่งมันออกจะเป็นตลกร้าย ในเมื่อโอบามานี่แหละคือผู้ที่กำลังใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อให้เรื่องนี้ปิดฉากลงไป)

สำหรับในคราวนี้ การตัดสินใจครั้งสำคัญมากของโอบามาในวันที่ 13 มิถุนายน 2013 ที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในซีเรีย จะก่อให้เกิดเหตุการณ์สืบเนื่องติดตามมาชนิดที่ส่งผลต่อการเมืองตะวันออกกลางและประวัติศาสตร์ของภูมิภาคแถบนี้ –อีกทั้งส่งผลต่อตัวยุคหลังสงครามเย็นเอง—อย่างไรบ้าง เป็นสิ่งซึ่งยังคงนอนนิ่งอย่างสงบอยู่ในครรภ์ของกาลเวลา

ถ้าหากใช้สำนวนโวหารของอดีตรัฐมนตรีกลาโหม โดนัลด์ รัมสเฟลด์ (Donald Rumsfeld) ของสหรัฐฯแล้ว ก็คงจะต้องพูดว่า เรื่องนี้มี “ตัวไม่รู้ที่ยังไม่รู้” (unknown unknown) อันดับแรกสุดเลยก็คือ ปูตินจะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไร? ตัวเขาเองก็โซซัดโซเซตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากคณะรัฐบาลสหรัฐฯที่กำลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในรัสเซียอยู่เช่นกัน ทั้งนี้ตามคำคร่ำครวญของปูตินเองเมื่อวันพุธ(12 มิ.ย) โดยที่เขาพูดเอาไว้ดังนี้:

“หน่วยงานทางด้านการทูตของเรา (ของฝ่ายรัสเซีย) ไม่ได้กำลังมีการร่วมไม้ร่วมมือกับขบวนการ “ยึดครองวอลล์สตรีท” (Occupy Wall Street movement) แต่อย่างใด ทว่าหน่วยงานทางด้านการทูตของพวกคุณ (ของฝ่ายสหรัฐฯ) กำลังให้ความสนับสนุนโดยตรงในด้านต่างๆ ต่อฝ่ายค้าน (ของรัสเซีย) ในความคิดของผมแล้ว มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะหน่วยงานทางด้านการทูตนั้นออกแบบขึ้นมาเพื่อให้ทำหน้าที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่างๆ ไม่ใช่การเที่ยวไปวุ่นวายกับกิจการทางการเมืองภายในเช่นนี้”

แน่นอนทีเดียวว่า เมื่อมาถึงจุดนี้ การโยนผ้าขอยอมแพ้ในเรื่องซีเรียย่อมกลายเป็นการตัดสินใจแบบหวั่นไหวบ้าจี้เกินกว่าที่มอสโกจะยอมรับได้ แล้วทางเลือกอื่นๆ มีอะไรบ้าง? พวกที่มีมันสมองดีเลิศที่สุดในวังเครมลินจะเป็นผู้อภิปรายถกเถียงกันในเรื่องนี้เอง

สำหรับในตะวันออกกลาง การตัดสินใจเช่นนี้ของทำเนียบขาวกำลังส่งผลกระทบอย่างแรงต่อพลวัตทางอำนาจของภูมิภาคนั้น นายกรัฐมนตรีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดแกน (Recep Tayyip Erdogan) ของตุรกี กำลังอยู่ในช่วงคัดง้างไม่ลงรอยกับคณะรัฐบาลโอบามาเกี่ยวกับแนวโน้มไปสู่ระบอบเผด็จการของเขา แต่กระนั้น การตัดสินใจของทำเนียบขาวย่อมกลายเป็นการหนุนส่งตุรกีในฐานะที่เป็น “รัฐในแนวหน้า” รายหนึ่ง ทว่าในอีกด้านหนึ่งนั้น ประชามติของชาวตุรกียังคงยืนหยัดคัดค้านการเข้าไปแทรกแซงในซีเรีย

สำหรับซาอุดีอาระเบีย, กาตาร์, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, จอร์แดน, อิหร่าน, กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (ในภาคใต้ของเลบานอน), อิสราเอล, อิรัก, เลบานอน –พวกเขาล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องพัวพันกับปัญหาซีเรียในทางใดทางหนึ่งทั้งสิ้น การที่จะจูงจมูกพวกเขา, โดดเดี่ยวตัดขาดพวกเขา, ยกย่องเยินยอพวกเขาให้เดินหน้าเข้าสู่ผลลัพธ์บั้นปลายซึ่งสามารถตกลงรอมชอมกันได้ ทางเลือกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่กระทำไม่ได้ในทางเป็นจริง ทั้งนี้บนสมมุติฐานที่ว่า ซีเรียยังคงสามารถมีชีวิตอยู่รอดต่อไปในฐานะเป็นหน่วยหนึ่งบนแผนที่ของภูมิภาคตะวันออกกลาง

เอ็ม เค ภัทรกุมาร ทำงานเป็นนักการทูตอาชีพสังกัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลา 29 ปี ในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001)
กำลังโหลดความคิดเห็น