เอเอฟพี - ผู้นำชาติมหาอำนาจอุตสาหกรรมสำคัญของโลก(จี8) เมื่อวันอังคาร(18) ร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องที่ขอให้มีการจัดประชุมสันติภาพในประเด็นซีเรียที่เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หลังที่ประชุมจี8ที่ไอร์แลนด์เหนือ ถูกครอบงำโดยปัญหาสงครามกลางเมืองของซีเรีย
หลังสิ้นสุดการประชุม 2 วันที่ไอร์แลนด์เหนือเมื่อวันอังคาร(18) เหล่าผู้นำกลุ่มจี 8 ยังได้เรียกร้องสำหรับข้อตกลงต่อรัฐบาลเปลี่ยนผ่านในซีเรีย ด้วยการมีอำนาจบริหรอย่างสมบูรณ์และจัดตั้งขึ้นโดยความยินยอมจากทุกฝ่าย
นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เจ้าภาพการประชุม ให้ความเห็นประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ไม่ควรมีบทบาทในรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน แต่แถลงการณ์ของกลุ่มจี8 ไม่ได้พาดพิงถึงผู้นำรายนี้ ซึ่งดูเหมือนเป็นการโอนอ่อนผ่อนตามรัสเซีย ชาติพันธมิตรของซีเรีย อย่างไรก็ตามเหล่าผู้นำไม่ได้บ่งชี้ถึงวันเวลาสำหรับข้อเสนอจัดประชุมสันติภาพดังกล่าว แม้เบื้องต้นมีการสันนิษฐานกันว่าน่าจะมีขึ้นภายในเดือนนี้ แต่ก็ถูกเลื่อนไปเป็นที่แน่นอนแล้ว
นอกจากนี้แล้วเหล่าผู้นำชาติมหาอำนาจอุตสาหกรรมสำคัญของโลก ยังเห็นพ้องในข้อตกลงปราบปรามการหลีกเลี่ยงภาษีและแบ่งปันข้อมูลทางการเงินข้ามพรหมแดนมากยิ่งขึ้น โดยพวกเขาประกาศใช้มาตรการที่เป็นรูปเป็นร่างซึ่งมีเป้าหมายไม่ใช้แค่การหลีกเลี่ยงภาษีด้วยวิธีทางที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ยังรวมไปถึงการใช้ช่องทางของกฎหมายหลบหลีกภาษีของบริษัทต่างๆที่ก่อความเสียหายทางรายได้มหาศาล
ในแถลงการณ์ของที่ประชุมจี 8 ยังเห็นพ้องบอกปัดจ่ายเงินค่าไถ่ตัวประกันที่ถูกลักพาตัวโดยกลุ่มก่อการร้าย และยังเรียกร้องบริษัทเอกชนดำเนินการตามอย่างพวกเขาด้วยการปฏิเสธจ่ายเงินค่าไถ่แลกกับการปล่อยตัวคนงาน
อย่างไรก็ตามการประชุมก็ยังคงถูกปกคลุมด้วยเหตุความขัดแย้งในซีเรีย ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 90,000 ชีวิต นับตั้งแต่ความรุนแรงปะทุขึ้นในเดือนมีนาคม 2011 โดยกลุ่มจี 8 ให้คำมั่นมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯแก่เหล่าผู้ลี้ภัยทั้งในและนอกซีเรีย ในนั้นรวมถึง 300 ล้านดอลลาร์จากสหรัฐฯและ200 ล้านยูโร จากเยอรมนี
หลังจากก่อนหน้านี้วอชิงตันเคยบอกว่าจะสนับสนุนอาวุธแก่กบฏซีเรียและสหภาพยุโรปกำลังขบคิดประเด็นนี้ ทางกลุ่มจี8 บอกว่ารู้สึกเป็นกังวลอย่างยิ่งต่อพวกก่อความรุนแรงและก่อการร้ายที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆในซีเรีย แต่ไม่ได้พาดพิงถึงการสนับสนุนอาวุธใดๆ กระนั้นก็ตามทางจี 8 เรียกร้องทั้งรัฐบาลและฝ่ายต่อต้าน ทำลายและขับไล่องค์กรหรือบุคคลใดๆที่มีความเกี่ยวของกับกลุ่มอัลกออิดะห์หรือพวกที่มีพฤติกรรมก่อการร้ายอื่นๆ ออกจากดินแดนของซีเรีย
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียและประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ มีความเห็นต่างอย่างรุนแรงต่อประเด็นซีเรีย นำมาซึ่งการพูดคุยแบบเผชิญหน้าที่หมางเมินเมื่อวันจันทร์(17) ขณะที่ในการแถลงข่าวปิดการประชุมจี 8 ปูติน ก็ยืนกรานว่ามอสโกไม่สามารถตัดความเป็นไปได้การส่งอาวุธสนับสนุนรัฐบาลซีเรีย
ทั้งนี้ประธานาธิบดีรัสเซีย ยังกล่าวหาสหรัฐฯก่อกวนสถานการณ์ในซีเรีย ด้วยการกล่าวหารัฐบาลนายอัสซาดใช้อาวุธเคมี "การตัดสินใจสนับสนุนทางอาวุธต่อฝ่ายต่อต้านใดๆที่มาจากข้อมูลข่าวที่ไม่ยืนยันเกี่ยวกับการใช้อาวุธเคมี มันรังแต่เป็นการปั่นป่วนสถานการณ์เพิ่มเติม" นายปูตินกล่าว