เอเอฟพี - ชาวจีนเริ่มป่วยเป็นโรคคนรวยอย่างมะเร็งมากขึ้น อีกทั้งพบว่าอาหาร มลพิษ และการใช้ชีวิตในเมืองคือปัจจัยก่อโรค งานวิจัยซึ่งจะตีพิมพ์ลงวารสารการแพทย์ชั้นนำ ในวันเสาร์ (8 มิ.ย.) ระบุ
โดยแนวโน้มดังกล่าวที่นำเสนอในวารสาร “เดอะลานเซ็ท” มาจากข้อมูลตั้งแต่ปี 1990 ถึง 2010 ซึ่งแสดงให้เห็นผลกระทบที่คนจีนได้รับจากการเร่งพัฒนาประเทศและการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว
“เมื่อมองกลับไปในปี 1990 จะพบว่าประวัติคนไข้ของชาวจีนคล้ายกับประวัติคนไข้ของประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เช่น เวียดนามหรืออิรัก” สถาบันเพื่อการวัดและการประเมินผลสุขภาพ (IHME) แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน หนึ่งในสามสถาบันที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยแถลง
IHME ชี้แจงว่า ในปัจจุบันชาวจีนมีประวัติการรักษาที่เหมือนของชาวอเมริกัน อังกฤษ และออสเตรเลียในบางด้านมากขึ้น
วารสาร เดอะลานเซ็ท เผยว่า ด้านที่มีความคล้ายคลึงกัน คือ ภาวะการเจริญพันธุ์และอัตราการตายของเด็กลดลงอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งมีช่วงชีวิตโดยเฉลี่ยที่ยาวขึ้น”
ช่วงชีวิตโดยเฉลี่ยของชาวจีนเพิ่มขึ้นจาก 69.3 ปี ในปี 1990 เป็น 75.7 ปี ในปี 2010 ทำให้จีนขยับขึ้นหนึ่งขั้น สู่ลำดับที่ 12 ในกลุ่มประเทศ G 20 (กลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่) ซึ่งในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้ ยอดการตายของเด็กลดลงอย่างรวดเร็ว จาก 1,000,000 คน เป็น 213,000 คน
อย่างไรก็ตาม การที่ชาวจีนมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นและอาศัยอยู่ในเมืองกันมากขึ้น ก็ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพปัญหาใหม่ตามมา จริงอยู่ที่ว่าคนเมืองมีโอกาสได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสสัมผัสกับมลพิษและชีวิตการทำงานแบบนั่งโต๊ะมากกว่าเช่นกัน
สาเหตุหลักของปัญหาสุขภาพในประเทศจีนทุกวันนี้ ได้แก่ เส้นโลหิตในสมองแตก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง อาการปวดบั้นเอว และการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน
ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่สำคัญ คือ การสูบบุหรี่ ปัญหาที่มาจากอาหาร ความดันโลหิตสูง มลพิษทางอากาศทั้งภายนอกและภายในอาคาร
“การเจริญเติบโตของเมือง รายได้ที่เพิ่มขึ้นและช่วงชีวิตที่ยาวนานขึ้น ทำให้มีการเจ็บป่วยที่เกิดจากโรคชนิดไม่ติดต่อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งโรคเหล่านี้ และสภาวะความพิการถาวรเป็นปัญหาที่ท้าทายของระบบการรักษาสุขภาพในประเทศจีน” รายงานระบุ
งานวิจัยฉบับนี้จัดทำโดย ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งประเทศจีน วิทยาลัยการแพทย์ครบวงจรแห่งปักกิ่ง (Peking Union Medical College) และ IHME