เอเจนซีส์ - หน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ หรือ NSA ใช้สิทธิ์เข้าสู่ระบบเซิร์ฟเวอร์โดยตรงของกูเกิล เฟสบุ๊ค สไกป์ แอปเปิลและระบบอินเตอร์เนตของผู้ให้บริการรายใหญ่ๆในสหรัฐเพื่อรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้บริการที่อาศัยในอเมริกาเพื่อประโยชน์ในการต่อสู้การก่อการร้าย จากการอ้างอิงเอกสารลับที่ดิการ์เดียนได้มา
เป็นข่าวร้ายที่สังคมอเมริกันต้องเผชิญเมื่อรู้ว่าสิ่งที่พวกเขาสนทนากันผ่านทางสไกป์ อีเมลย์ ichat หรือแม้กระทั่งทางโทรศัพท์มือถือ “ไม่เป็นความลับส่วนตัวอีกต่อไป” เป็นข่าวร้ายที่ชาวอเมริกันต้องรู้ว่าหน่วยงานความมั่นคงของเขา “จับตา”ดูความเคลื่อนไหวของพวกเขาตลอด 24 ชั่วโมง “อย่างถูกกฎหมาย” และเป็นยิ่งกว่าข่าวร้ายที่รู้ว่าบรรดาบริษัทไฮเทคที่ให้บริการพวกเขาทรยศต่อความไว้ใจโดยแอบ “เปิดประตูหลัง” ให้กับรัฐเพื่อจับตาพวกเขาได้อย่างเต็มที่
การที่หน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ หรือ NSAใช้สิทธิ์เข้าสู่ระบบเซิร์ฟเวอร์การให้บริการในรูปแบบต่างๆทางไซเบอร์สเปซเป็นส่วนหนึ่งของปฎิบัติการลับสุดยอดในอดีตที่รู้จักในนาม “ปริซึ่ม” ที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงสามารถรวบรวมข้อมูลที่ชาวอเมริกันใช้ในชีวิตประจำวันทางระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ รวมถึงเสริ์ชฮิสทรี (Search History)จากอินเตอร์เนทบราวเซอร์ เนื้อความในอีเมลย์ การรับส่งไฟล์ และการสนทนาออนไลน์ โดยไม่ต้องขอหมายศาล และยังอนุญาตให้เก็บข้อมูลไว้เป็นหลักฐาน อ้างอิงจากเอกสารลับที่ดิการ์เดียนอ้างอิง
การเข้าถึงข้อมูลของ NSA เกิดขึ้นเนื่องจาการกฎหมายที่เกี่ยวกับการต่อต้านก่อการร้ายเช่น "แพทริออต แอ็กท์" ที่เกิดในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และต่ออายุในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามาในเดือนธันวาคม 2012
ข่าวปฎิบัติการลับ “ปริซึ่ม” นี้รั่วมาจากการเปิดเผยของหนังสือพิมพ์เดอร์การ์เดียนในวันพุธ(5)ที่ผ่านมานี้ ที่เปิดเผยเกี่ยวกับคำสั่งลับสุดยอดของศาลสหรัฐฯที่ออกคำสั่งให้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ วาไรซัน ส่งข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของผู้ใช้ชาวสหรัฐฯนับหลายล้านราย
ข้อมูลที่ได้จากการให้ความร่วมมือของบริษัทอินเตอร์เนตในสหรัฐฯในปฎิบัติการ “ปริซึ่ม” จะถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลของหน่วยงาน การเปิดเผยเกี่ยวกับวาไรซันทำให้สังคมได้รู้ถึงขอบเขตของการล้วงความลับจากประชาชนอเมริกันที่รัฐบาลสหรัฐฯกระทำตลอดมา
ในขณะที่บริษัทยักษใหญ่ระดับโลกอย่างกูเกิลออกมาปฎิเสธว่า ไม่เคยแอบ “เปิดประตูหลัง” ให้หน่วยงานรัฐในการล้วงความลับของผู้ใช้บริการของกูเกิล หรือแอปเปิลปฎิเสธว่าไม่เคยได้ยินชื่อปฎิบัติการ “ปริซึ่ม” มาก่อนเลยก็ตาม
แต่ปรากฎว่า บริษัทผู้ให้บริการทางอินเตอร์เนตระดับโลกถูกอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความร่วมมือโดยการแชร์ข้อมูลความลับของลูกค้าตั้งแต่ปี 2007 ไมโครซอฟท์ที่ขณะนี้มีสโลแกนโฆษณาออกอากาศทางทีวีว่า “ความลับของลูกค้า”เป็นสิ่งแรกที่ไมโครซอท์สนใจ กลับเป็นบริษัทรายแรกๆที่เข้าร่วมกับปฎิบัติการ “ปริซึ่ม” ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2007หลังจากนั้นตามด้วย ยาฮู ในปี 2008 และ กูเกิล เฟสบุ๊ก และ พาลทอล์ค ในปี 2009 ยูทูบ ในปี 2010 สไกป์และ AOLในปี 2011 และท้ายสุดตามด้วยแอปเปิลในปี 2012 ซึ่งมันไม่หยุดแค่นี้ขึ้นอยู่กับว่ามีผู้ให้บริการทางออนไลน์รายอื่นๆที่อาจเกิดใหม่ในอนาคต
โดยปกติแล้วกฎหมายสหรัฐฯสั่งให้บริษัทต่างๆในอเมริกาต้องร่วมมือจากทางการในคำขอ แต่ปฎิบัติการ “ปริซึ่ม”นี้ทำให้ง่ายเข้าโดยให้เจ้าหน้าที่เชื่อมตรงจากเซิร์ฟเวอร์ของบริษัท อ้างอิงจากเอกสารของ NSA ที่ระบุว่า “ภายการให้ความร่วมมือจากบริษัทในสหรัฐฯในปฎิบัติการ”
การเปิดเผยในครั้งนี้สนับสนุนข้อวิตกของวุฒิสมาชิกสหรัฐฯหลายๆท่านตอนที่ต้องมีการต่ออายุกฎหมาย "ฟิซ่า แอ็กท์" ฉบับแก้ไขใหม่ ในเดือนธันวาคมปี 2012 ที่เกี่ยวกับขอบเขตการมอร์นิเตอร์ของหน่วยงานด้านความมั่นคงสหรัฐฯที่กฏหมายเอื้ออำนวยให้ และจุดอ่อนของมาตรการเตือนที่ถูกนำเสนอเข้ามา
และนอกจากนี้เอกสารยังเปิดเผยอีกว่า หน่วงานFBIของสหรัฐฯทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างหน่วยงานความมั่นคงและบรรดาบริษัทไฮเทคต่างๆ นอกจากนี้ยังเสริมว่า “การเข้าถึงข้อมูลได้โดยตรง 100 % นั้นขึ้นอยู่กับการอนุญาตของ ISP ต่างๆ” และเน้นไปที่การเพิ่มจำนวนของการสื่อสารทางคอมพิวเตอร์ที่หน่วยงานความมั่นคงเข้าไปสแกน อาทิเช่น การเพิ่มขึ้นราว248% ของสไกป์ 131% สำหรับเฟสบุ๊ก และ63%ของกูเกิล ตามลำดับ