เอเอฟพี - ในวันพุธ(5)สนามบินซิดนีย์เผยแผนแม่บทฉบับร่างที่เปิดไฟเขียวนำไปสู่การปรับปรุงสนามบินให้เป็นสนามบินซึ่งจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 74ล้านคนต่อปีในปี2033 โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีรันเวย์ใหม่หรือต้องงดเที่ยวบินช่วงกลางคืน
ก่อนที่แผนดังกล่าวจะถูกเผยแพร่ออกมานั้น ในปีที่ผ่านมา ได้มีเสียงเรียกร้องให้สร้างสนามบินแห่งที่สองในเมืองคิงส์ฟอร์ดสมิธ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากย่านใจกลางนครซิดนีย์เพียง 8กิโลเมตร (5ไมล์) ที่คาดว่าจะสามารถรับรองผู้โดยสารได้ 36.9 ล้านคน
แผนปรับปรุงสนามบินซิดนีย์ล่าสุดนั้นมีเป้าหมายที่จะรวมอาคารผู้โดยสารทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศเข้าด้วยกัน จากปัจจุบันที่อยู่คนละอาคารกัน และจะเพิ่มคล่องตัวของการจราจรภาคพื้นดินเข้าสู่สนามบินด้วยการตัดถนนใหม่หลายอีกเส้นและยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะช่วยสนับสนุนการใช้ระบบขนส่งมวลชน
นายเคอร์รี เมเทอร์ ผู้บริหารระดับสูงของสนามบินซิดนีย์ กล่าวว่า "แผนปรับปรุงนี้จะทำให้ผู้โดยสารได้รับประสบการณ์ที่น่าจดจำเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการให้บริการทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศซึ่งรวมอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน"
นายเคอร์รียังอธิบายเพิ่มว่า ได้มีการเสนอให้ปรับเปลี่ยนแผนด้านจราจร โดยให้มีถนนวงแหวนเลนเดียวสำหรับทั้งสองอาคาร และจะปรับเพิ่มเวลาของไฟเขียวให้ยาวขึ้นอีก 33% ในส่วนของสี่แยกที่สำคัญๆ เพื่อให้รถสามารถสัญจรได้คล่องตัวกว่าเดิม
สนามบินซิดนีย์เป็นสนามบินที่สำคัญที่สุดของแดนจิงโจ้ทั้งในด้านการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว โดยสนามบินแห่งนี้ทำให้เกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้ถึง 27.6 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 26.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยได้ราว 8 แสนล้านบาท)ต่อปี
ทั้งนี้ ทางการออสเตรเลียคาดการณ์ว่าความต้องการในด้านการเดินทางทางอากาศจะเพิ่มสูงขึ้นในอีก 20ปีข้างหน้า และอัตราผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 36.9 ล้านคนในปี 2012 เป็น 74.3 ล้านคนภายในปี 2033
ขณะเดียวกัน จำนวนเครื่องบินที่จะเข้ามายังสนามบินซิดนีย์ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันคือ 321,700 เครื่อง เป็น 409,500เครื่อง และเพิ่มปริมาณสินค้าที่ขนส่งทางเครื่องบินซึ่งในปัจจุบันคือ 615,378 ตัน เป็น 1,011,312 ตัน ภายในปี 2033