xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นร่วมเป็นภาคี “อนุสัญญากรุงเฮก” ว่าด้วยการลักพาเด็กข้ามชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วุฒิสภาญี่ปุ่นโหวตรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการลักพาเด็กข้ามชาติ วันนี้(22)
เอเอฟพี - รัฐสภาญี่ปุ่นมีมติรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการลักพาเด็กข้ามชาติ วันนี้(22) หลังถูกสหรัฐฯ และมหาอำนาจตะวันตกกดดันให้ร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวมานานหลายสิบปี

ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ จี8 ที่ยังไม่ลงนามรับรองอนุสัญญากรุงเฮก ปี 1980 ซึ่งกำหนดให้ประเทศภาคีต้องส่งคืนเด็กที่ถูกลักพาตัวกลับสู่ประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่

พ่อแม่หลายร้อยคนโดยเฉพาะผู้ชายในประเทศแถบอเมริกาเหนือและยุโรป ถูกทอดทิ้งให้อยู่อย่างเดียวดายโดยปราศจากช่องทางร้องเรียน หลังคู่ชีวิตชาวญี่ปุ่นตัดสินใจแยกทางและพาตัวลูกๆกลับไปแดนอาทิตย์อุทัยด้วย

กฎหมายญี่ปุ่นไม่มีการให้สิทธิในการปกครองบุตรร่วม (joint custody) และเกือบทุกกรณีศาลจะสั่งให้บุตรที่บิดามารดาหย่าร้างต้องอาศัยอยู่กับผู้เป็นมารดาเท่านั้น

สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯพยายามเรียกร้องให้ญี่ปุ่นปฏิบัติตามแบบแผนของนานาประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเด็นที่วอชิงตันและโตเกียวขัดแย้งกันอย่างเปิดเผย และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ก็ได้ให้สัญญาว่าจะปฏิรูปกฎหมายข้อนี้ หลังจากหารือกับประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯที่ทำเนียบขาว

วุฒิสภาลงคะแนนโหวตอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญากรุงเฮก หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรเมืองปลาดิบก็ได้โหวตรับรองไปแล้ว เมื่อเดือนเมษายน

อย่างไรก็ดี โตเกียวยังต้องแก้ไขอุปสรรคทางกฎหมายอีกหลายเปลาะกว่าจะสามารถปฏิบัติตามข้อบังคับในอนุสัญญาได้อย่างสมบูรณ์ โดยจะมีการลงนามรับรองขั้นสุดท้ายภายในปีงบประมาณปัจจุบัน หรือก่อนสิ้นเดือนมีนาคม ปี 2014

กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นจะจัดตั้งหน่วยงานดูแลเด็กที่พ่อแม่แยกทางกัน และถูกพากลับมาอาศัยที่ญี่ปุ่น โดยจะส่งเสริมให้ผู้ปกครองทั้ง 2 ฝ่ายเจรจาทำข้อตกลงเรื่องการดูแลบุตรโดยสมัครใจ แต่หากการให้คำปรึกษาไม่สัมฤทธิ์ผล ศาลครอบครัวในกรุงโตเกียวและโอซากาจะเข้ามาทำหน้าที่ตัดสินชี้ขาด

อย่างไรก็ดี กฎหมายใหม่ที่จะประกาศใช้ยังอนุญาตให้บิดาหรือมารดาของเด็กปฏิเสธการคืนบุตรให้อีกฝ่าย หากเกรงว่าบุตรจะตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในบ้าน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่นักสิทธิมนุษยชนถือว่าจำเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่บางคนมองว่าเงื่อนไขเช่นนี้อาจเป็นช่องโหว่ให้เกิดการฉกฉวยผลประโยชน์

ในส่วนของบิดามารดาที่แยกทางกันก่อนกฎหมายประกาศใช้ก็สามารถยื่นเรื่องขอรับคืนบุตรจากอีกฝ่ายได้ ทว่าศาลมีสิทธิ์ปฏิเสธคำร้อง หากเด็กอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นมานานเกิน 1 ปี และปรับตัวเข้ากับชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันได้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น