เอเอฟพี - คนงาน 4 ได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาจากอุโมงค์ของเมืองแร่แห่งหนึ่ง ในพื้นที่ห่างไกลทางภาคตะวันออกของอินโดนีเซีย หลังจากมันเกิดพังถล่มลงมาวันอังคาร(14) อย่างไรก็ตามมีอีก 33 คนที่ติดอยู่ภายในและเจ้าหน้าที่ยอมรับความหวังรอดชีวิตค่อนข้างเลือนลาง
อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นที่เหมืองกราสเบิร์ก ของบริษัทฟรีพอร์ท-แมคมอแรน หนึ่งในเมืองทองคำและทองแดงใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งตั้งอยู่ตามแถบภูเขาในจังหวัดปาปัวและเคยเกิดปัญหาต่างๆนาบ่อยครั้ง ในนั้นรวมถึงเหตุประท้วงใหญ่เมื่อปี 2011 อันส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตอย่างกว้างขวาง
"ทีมช่วยเหลือได้อพยพคนงาน 4 จาก 37 ที่เชื่อว่าได้ติดอยู่ภายในเหมือง หลังอุโมงค์แห่งหนึ่งบริเวณศูนย์ฝึกอบรมใต้ดินเกิดพังถล่มลงมา" ถ้อยแถลงจากบริษัทลูกของฟรีพอร์ท-แมคมอแรน ในอินโดนีเซียระบุ
ด้านนายเจอร์มิอาส รอนตินี ผู้บังคับการตำรวจท้องถิ่นบอกกับเอเอฟพีว่าผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือขึ้นมานั้นถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลแล้ว แต่ไม่ทราบว่าอาการของพวกเขาเหล่านั้นหนักเบาแค่ไหน พร้อมกันนั้นเขายังยอมรับด้วยว่าคงไม่มีหวังสำหรับพวกคนงานที่ยังติดอยู่ภายใน "อุโมงค์เดียวกันนี้เคยพังถล่มมาก่อนแล้ว และคราวนั้นก็คร่าชีวิตคนงานไปหลายคน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวไม่มีออกซิเจนเพียงพอ"
ฟรีพอร์ตระบุว่าพนักงานและคนงานสัญญาจ้าง 40 คน กำลังอยู่ระหว่างเข้าร่วมฝึกอบรมภายในศูนย์ฝึกอบรมของเหมือง ณ เวลาประมาณ 7.30 น. แต่ระหว่างนั้นอุโมงค์ก็เกิดพังถล่มลงมา และมีอยู่ 3 คนที่สามารถหลบหนีออกมาได้ในทันที พร้อมคาดหมายว่าเหตุการณ์นี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตใดๆ
ถ้อยแถลงของฟรีพอร์ตบอกต่อว่าปฏิบัติการช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบากและคงต้องใช้เวลาสักระยะกว่าจะจัดการได้ แต่ก็ยอมรับว่าไม่มีแผนสำรองสำหรับช่วยเหลือคนงานที่ยังติดอยู่ภายใน
บริษัทแห่งนี้ไม่ได้ระบุถึงสัญชาติของคนงานที่เกี่ยวข้องในอุบัติเหตุดังกล่าว แม้ส่วนใหญ่ของคนงานกว่า 24,000 คนของเมืองเป็นชาวอินโดนีเซีย ขณะเดียวกันทางฟรีพอร์ตหรือแม้แต่ตำรวจเอง ก็ไม่ได้ชี้แจงถึงต้นตอของเหตุอุโมงค์ถล่มครั้งนี้
เมื่อปี 2011 เหมืองแห่งนี้ต้องเผชิญกับการประท้วงครั้งใหญ่ที่กินเวลายาวนาน 3 เดือน จนส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิต ซึ่งสุดท้ายก็ยุติลงด้วยทางบริษัทยอมขึ้นค่าแรงอีกหลายเท่าตัว
การประท้วงดังล่าวจุดชนวนเหตุปะทะนองเลือดหลายต่อหลายครั้งระหว่างตำรวจและกลุ่มมือปืนรอบๆเหมือง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยๆ 11 คน ทั้งหมดล้วนแต่เป็นชาวอินโดนีเซีย
ล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา คนงานราว 1,100 คนของบริษัทผู้รับเหมาของฟรีพอร์ต ก็ดำเนินการประท้วงเกี่ยวกับค่าแรงเป็นเวลา 3 วัน แต่ความเคลื่อนไหวนี้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตของเหมืองเพียงแค่เล็กน้อย