xs
xsm
sm
md
lg

ปิดโรงงานเสื้อผ้านับร้อยในบังกลาเทศ หลังคนงานประท้วงเดือดเหตุตึกถล่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - โรงงานหลายร้อยแห่งในแถบศูนย์กลางอุตสาหกรรมสิ่งทอของบังกลาเทศ ต้องปิดกิจการอย่างไม่มีกำหนดวานนี้ (13) หลังเกิดความไม่สงบซึ่งจุดชนวนมาจากความขุ่นเคืองของคนงานต่อเหตุอาคารพังถล่มที่กรุงธากาเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งคร่าชีวิตเพื่อนแรงงานไปกว่า 1,100 คน และล่าสุดเจ้าหน้าที่ตัดสินใจยุติปฏิบัติการค้นหาแล้ว

ขณะที่เจ้าหน้าที่ยุติปฏิบัติการค้นหาศพผู้เสียชีวิตจากเหตุอาคาร 9 ชั้น “รานา พลาซา” รอบนอกกรุงธากา พังถล่มลงมาเมื่อเดือนที่แล้ว ทางองค์กรหลักของภาคอุตสาหกรรมสิ่งขอบังกลาเทศ เผยว่าได้สั่งระงับปฏิบัติการทั้งหมด ณ เขตอุตสาหกรรมอาชูเลียที่อยู่ใกล้กัน โดยไม่มีกำหนดจนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบเพิ่มเติม

ชาไฮดุลเลาะห์ อาซิม จากสมาคมผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าของบังกลาเทศเผยว่าที่ต้องตัดสินใจดังกล่าวก็เพื่อรับประกันความปลอดภัยแก่โรงงานต่างๆ หลังจากผู้บังคับการตำรวจท้องถิ่นเผยว่ามีแรงงานจากโรงงานต่างๆ ราวร้อยละ 80 ได้ชุมนุมประท้วงในวันจันทร์ (13) เพื่อเรียกร้องขอขึ้นเงินเดือนและประหารชีวิตเจ้าของตึกรานา พลาซา

ผู้บัญชาการตำรวจรายนี้เสริมว่าโรงงานเสื้อผ้าชั้นนำของบังกลาเทศ ส่วนใหญ่แล้วจะตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมอาชูเลีย และโรงงานต่างๆ ในนั้นได้มีการหยุดปฏิบัติการมาตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน หรือวันที่เกิดเหตุโศกนาฏกรรมตึกรานา พลาซา พังถล่มแล้ว

ความตึงเครียดในเขตอุสาหกรรมอาชูเลียถูกโหมกระพือขึ้นตามหลังพบศพคนงานเสื้อผ้าหญิงรายหนึ่งเมื่อวันอาทิตย์ (12) แม้ตำรวจต้องสงสัยว่าเป็นการฆ่าตัวตายโดยมีสาเหตุจากเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ก็ตาม

เขตอุสาหกรรมอาชูเลียมีโรงงานราวๆ 500 แห่ง โดยเหล่านั้นผลิตเสื้อผ้าป้อนให้กับบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของชาติตะวันตก อาทิ วอล์มาร์ต เอชแอนด์เอ็ม เทสโก้ และคาร์ฟูร์ อย่างไรก็ตาม ข่าวคราวการปิดปฏิบัติการอย่างไม่มีกำหนด นับเป็นเรื่องร้ายซึ่งซ้ำเติมภาคอุตสาหกรรรมสิ่งทอของบังกลาเทศ หลังจากเหล่าผู้ประกอบการเพิ่งลงทุนอ้อนวอนชาติตะวันตกไม่ให้ย้ายฐานการผลิตและให้คำมั่นถึงกรอบด้านความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือกว่าเดิม

เหตุอาคารรานา พลาซา อันเป็นที่ตั้งของโรงงานเสื้อผ้า 5 แห่ง นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมสิ่งทอของประเทศ ขณะที่เมื่อวันจันทร์ (13) ทางกองทัพบังกลาเทศแถลงว่าได้ตัดสินใจยุติปฏิบัติการค้นหาศพผู้เสียชีวิตแล้ว ด้วยยอดเหยื่อทั้งหมดอยู่ที่ 1,127 ศพ

นายพลผู้รับผิดชอบปฏิบัติการกู้ภัยกินเวลายาวนานราว 3 สัปดาห์ เผยว่า ตอนนี้ได้ส่งมอบหน้าที่ควบคุมปฏิบัติการทั้งหลายแก่หน่วยงานพลเรือนแล้วและคาดหมายว่าทหารทั้งหมดจะกลับสู่ค่ายในช่วงบ่ายวันอังคาร (14) “ปฏิบัติการกู้ภัยเกือบเสร็จสิ้นแล้ว ผมไม่คิดว่าเราจะพบศพในซากหักพังอีก” นายพลจัตวา ซิดดิกุล อาลัม บอกกับเอเอฟพี

แรงงานในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอของบังกลาเทศมีอยู่ราวๆ 3 ล้านคน และจำนวนมากได้ค่าแรงขึ้นต่ำแค่ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ราว 1,180 บาท) ระดับค่าจ้างที่ถูกโป๊ปฟรานซิสประณามว่าเป็น “แรงงานทาส”

มูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2006 บิดาแห่งแนวคิด ′การเงินขนาดจิ๋ว′ หรือไมโครไฟแนนซ์ เมื่อวันจันทร์ (13) เรียกร้องโรงงานต่างๆและเหล่าบริษัทค้าปลีกตะวันตก ให้คำรับประกันว่าพวกแรงงานจะได้รับค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต

นักเคลื่อนไหวบางส่วนมองว่าที่ค่าจ้างยังอยู่ในระดับต่ำก็เพราะข้อจำกัดต่างๆ ของรัฐบาลทำให้สหภาพแรงงานไร้พลัง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลบังกลาเทศในวันจันทร์ (13) ได้อนุมัติแก้ไขกฎหมายแรงงาน ซึ่งเปิดทางให้สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ง่ายขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น