เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผู้เชี่ยวชาญด้านหนี้สินและสิทธิมนุษยชนชื่อดังออกโรงเตือน กรีซจะเผชิญปัญหาทางสังคมครั้งใหญ่หลวง จากผลพวงของวิกฤตด้านหนี้สินและภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่กัดกร่อนประเทศมานานต่อเนื่องกว่า 6 ปี
เซฟาส ลูมินา ผู้เชี่ยวชาญชาวแซมเบีย ขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในด้านปัญหาหนี้สินและสิทธิมนุษยชนกล่าวระหว่างเดินทางเยือนกรีซเมื่อช่วงสุดสัปดาห์โดยเตือนว่า วิกฤตทางเศรษฐกิจที่กรีซต้องเผชิญนานต่อเนื่องกว่า 6 ปี กำลังทำให้กรีซต้องเผชิญกับ “ภาวะฉุกเฉินทางสังคม” จากการที่จำนวนของผู้คนที่ไม่มีงานทำและคนไร้บ้านที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่สังคมกรีซยังถูกซ้ำเติมจากการบังคับใช้มาตรการรัดเข็มขัดสุดเข้มงวด เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือจากต่างชาติ ซึ่งส่งผลให้ สังคมของกรีซใกล้เข้าสู่ภาวะแตกสลายทุกขณะ
ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติรายนี้ยังเผยว่าการที่กรีซต้องเผชิญกับวิกฤตหนี้สินของกลุ่มยูโรโซนนานกว่า 3 ปี และอีก 4 ปีกับการถูกบังคับใช้มาตรรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจแบบเข้มงวด ได้ทำให้กรีซกลายเป็นดินแดนที่มีอัตราการว่างงานสูงที่สุดไปแล้วเมื่อเทียบกับ 27 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) จากการที่มากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรในกรีซเวลานี้ ไม่มีงานทำ
ขณะที่จำนวนคนไร้บ้านได้พุ่งขึ้นกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา รวมถึงอัตราความยากจนของประชาชนที่อายุต่ำกว่า 17 ปี ลงไปของกรีซได้ขยับเข้าใกล้ 44 เปอร์เซ็นต์แล้ว ขณะเดียวกันประชาชนมากกว่า 1 ใน 3 ของประเทศมีคุณภาพชีวิตต่ำกว่า “เส้นความยากจน” ในปี 2012 ที่ผ่านมา
ลูมินา ชี้ว่าปัญหาต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจที่รุมเร้ากรีซในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงความโหดร้ายจากมาตรการรัดเข็มขัดของพวกประเทศเจ้าหนี้ กำลังคุกคามชีวิตของพลเมืองทั้งในด้านการทำงาน ความมั่นคงทางสังคม สุขภาพ และที่อยู่อาศัยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และคงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า รัฐบาลเอเธนส์อาจต้องรับมือกับการปะทุของปัญหาทางสังคมอีกนานัปการต่อจากนี้ ซึ่งยากต่อการแก้ไข
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสหภาพยุโรป กรีซถูกจัดให้เป็นหนึ่งในดินแดนที่ยากจนที่สุดของอียู โดยมีเพียงสเปน โรมาเนีย และบัลแกเรีย เท่านั้น ที่มีปัญหาด้านความยากจนที่ย่ำแย่เลวร้ายกว่ากรีซ แม้ล่าสุดจะมีการคาดหมายว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของกรีซอาจกลับไปโตอยู่ในแดนบวกได้อีกครั้งในปี 2014 ซึ่งอาจเป็นการเติบโตเพียงแค่ 0.6 เปอร์เซ็นต์