เอเจนซีส์ - ความตึงเครียดทางการเมืองจากเรื่องผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเวเนซุเอลา ลุกลามกลายเป็นการประหมัดกลางรัฐสภาระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (30 เม.ย.) นอกจากนี้ผู้นำใหม่เวเนซุเอลายังตอกกลับสเปนที่เสนอตัวไกล่เกลี่ย ให้หยุด “สอดแทรก”
“ผมไม่ใช่คนเดียวที่ถูกชก พวกเขาทำร้ายสมาชิกของเรา 7 คน ประธานสภา ดิออสดาโด คาเบลโล ต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัว” ฆูลิโอ บอร์เกส สมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรคฝ่ายค้านกล่าว
ขณะที่พนักงานในรัฐสภาคนหนึ่งเล่าว่า ปัญหาเริ่มต้นขึ้นเมื่อรัฐสภาของเวเนซุเอลาซึ่งมีสภาเดียวและฝ่ายรัฐบาลครองเสียงข้างมาก ผ่านมติปฏิเสธสิทธิของฝ่ายค้านในการแถลงต่อสภา จนกว่าจะให้การยอมรับมานิโคลัส มาดูโร ในฐานะประธานาธิบดี
ประธานคาเบลโลประกาศกับพวกสมาชิกของพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งหลายคนตะโกนและผิวปากประท้วง ว่าหากไม่ยอมรับสถาบันของรัฐ ก็ควรไปออกสื่อทีวีหรือหนังสือพิมพ์แทนที่จะมาแถลงในสภา
สมาชิกฝ่ายค้านจึงแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบด้วยการตะโกนคำว่า “ฟาสซิสต์” ใส่ผู้นำรัฐสภา และชูป้ายที่มีข้อความว่า “ปฏิวัติรัฐสภา” หลังจากนั้นสมาชิกสภาฝ่ายรัฐบาลก็เปิดฉากเข้าโรมรันและมีการต่อสู้ชกต่อยปัดป้องกันพัลวันทั้งด้วยมือเปล่า แล็ปท็อป โต๊ะ เก้าอี้ โดยที่ในภายหลังมีการตรวจค้นว่า พวกพนักงานรัฐสภาแอบถ่ายภาพหรือถ่ายคลิปเก็บไว้หรือไม่
ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นคนเริ่มก่อเรื่อง ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างที่รัฐสภาดำเนินการประชุมแบบปิดลับ
ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ (29 เม.ย.) ทางการเวเนซุเอลาได้เริ่มการตรวจสอบผลการเลือกตั้งเป็นบางส่วนที่มาดูโร ทายาททางเมืองของอดีตประธานาธิบดีอูโก ชาเบซ ผู้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้รับการประกาศรับรองให้เป็นฝ่ายชนะ แต่ถูกโต้แย้งจากฝ่ายค้าน
เอนริเก กาปริเลส ผู้นำฝ่ายค้านที่อ้างว่า ตนเป็นผู้ชนะตัวจริงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 14 เดือนที่แล้ว กล่าวหาคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า ที่ปฏิเสธข้อเรียกร้องของฝ่ายค้านที่ให้นับคะแนนใหม่ทั้งหมด เป็นเพราะได้รับใบสั่งมาจากพรรคโซเชียลลิสต์ที่เป็นพรรครัฐบาล
ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติประกาศว่า มาดูโร วัย 50 ปี เป็นผู้ชนะโดยได้คะแนนมากกว่ากาปริเลส 1.49% จากที่ระบุในเบื้องต้นไว้ที่ 1.8% พร้อมยืนยันว่า กฎหมายไม่อนุญาตให้นับคะแนนใหม่ และการตรวจสอบก็ไม่สามารถเพิกถอนชัยชนะของมาดูโรได้
กาปริเลส นักธุรกิจ ทนายความ และผู้ว่าการรัฐมีรันดา กล่าวหาว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงบางคนหย่อนบัตรมากกว่าหนึ่งครั้ง หรือกระทั่งใช้สิทธิแทนคนตาย
ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนออกมาแสดงพลังบนท้องถนนในวันแรงงานสากล 1 พฤษภาคม
ขณะเดียวกัน สเปน อดีตเจ้าอาณานิคมได้เสนอตัวไกล่เกลี่ยให้ แต่กลับถูกมาดูโรตอกกลับว่า รัฐมนตรีต่างประเทศแดนกระทิงดุควรหยุด “สอดแทรก" กิจการของเวเนซุเอลา