xs
xsm
sm
md
lg

เป็นเรื่อง! ฟิลิปปินส์ประกาศพร้อมให้ US ตั้งฐานทัพในประเทศ เปิดศึกเกาหลีเหนือ ส่งสัญญาณอาจเกิด “สงครามนิวเคลียร์” ในเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อัลเบิร์ต เฟร์เรโรส เดล โรซาริโอ รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์
เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-อัลเบิร์ต เฟร์เรโรส เดล โรซาริโอ รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ ประกาศในวันเสาร์ (13) โดยระบุ พร้อมเปิดทางให้สหรัฐฯส่งทหารเข้ามาตั้งฐานในฟิลิปปินส์ได้ หากทางการสหรัฐฯต้องเปิดฉากทำสงครามกับเกาหลีเหนือ ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า มีความเป็นไปได้ที่อาจเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นในทวีปเอเชีย

รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์วัย 73 ปีซึ่งเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ต้นปี 2011เผยว่า ฟิลิปปินส์และสหรัฐฯมีสนธิสัญญาด้านการป้องกันร่วมกัน ซึ่งกำหนดให้ทั้งฟิลิปปินส์และสหรัฐฯต้องให้การช่วยเหลือต่อกันหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกโจมตีหรือก้าวเข้าสู่ภาวะสงคราม

ดังนั้น หากความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีปะทุถึงขีดสุด ฟิลิปปินส์จะอนุญาตให้ทหารอเมริกันเข้ามาใช้ฐานทัพในแดนตากาล็อกได้ เพื่อทำสงครามกับเกาหลีเหนือ ตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาดังกล่าว

ท่าทีล่าสุดของรัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์มีขึ้นเพียง 1 วัน หลังจากที่เมื่อวันศุกร์ (12)โบลไตเร ตูเบรา กัซมิน รัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์เพิ่งออกมาประกาศว่า รัฐบาลมะนิลา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเบนินโญ “นอยนอย” อากิโนได้เตรียมมาตรการต่างๆไว้รองรับสถานการณ์ที่ทวีความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่ทางการแดนตากาล็อกพิจารณานั้น ครอบคลุมถึงการอนุญาตให้สหรัฐฯเข้ามาใช้ฟิลิปปินส์ เป็นฐานสำหรับทำสงครามกับเกาหลีเหนือ ด้วยเช่นกัน

สหรัฐฯและฟิลิปปินส์ถือเป็นพันธมิตรที่มีความแน้นแฟ้นต่อกัน โดยเฉพาะหลังจากที่มีการทำสนธิสัญญาป้องกันร่วมระหว่างกันในปี 1951 แม้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลวอชิงตันและมะนิลาจะเข้าสู่ภาวะเย็นชาต่อกันในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 หลังเกิดความไม่ลงรอยกรณีการเช่าฐานทัพอากาศคลาร์ก และฐานทัพเรือที่อ่าวซูบิคในฟิลิปปินส์ ที่สหรัฐฯใช้มาตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม และความขัดแย้งดังกล่าวเป็นเหตุให้กำลังพลของสหรัฐฯต้องถอนตัวออกจากฟิลิปปินส์ในที่สุด

อย่างไรก็ดี ในระยะหลังเมื่อฟิลิปปินส์มีข้อพิพาทกับจีนเกี่ยวกับหมู่เกาะหลายแห่งในทะเลจีนใต้ รัฐบาลมะนิลาจึงต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสหรัฐฯให้กลับมาแน่นแฟ้นดังเดิม เพื่อป้องปรามการคุกคามจากรัฐบาลปักกิ่ง

คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ


กำลังโหลดความคิดเห็น