เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - เมืองชายแดนแห่งหนึ่งในปากีสถานเห็นชอบในวันอาทิตย์ (7) ให้ พลเอก เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ ลงชิงชัยในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ได้ สวนทางกับคำตัดสินของคณะกรรมการการเลือกตั้งปากีสถาน ที่เพิ่งปฏิเสธไม่ให้อดีตประธานาธิบดี มูชาร์ราฟ ลงสมัครรับเลือกตั้งในเมืองหนึ่งของจังหวัดปัญจาบเมื่อวันศุกร์ (5) ที่ผ่านมา
รายงานข่าวระบุว่า มูชาร์ราฟซึ่งปกครองปากีสถานนาน 9 ปี หลังการยึดอำนาจในปี 1999 และเพิ่งเดินทางกลับประเทศเมื่อ 24 มีนาคม หลังลี้ภัยที่ดูไบและกรุงลอนดอนนานกว่า 4 ปี ได้รับอนุญาตในวันอาทิตย์ (7) จากทางการเมืองชิตรัล ทางภาคเหนือของประเทศใกล้กับพรมแดนอัฟกานิสถาน ให้ลงสมัครชิงเก้าอี้สมาชิกรัฐสภาได้ที่เมืองดังกล่าว
โดย จามาล ข่าน หนึ่งในเจ้าหน้าที่ด้านการเลือกตั้งของเมืองดังกล่าวให้เหตุผลว่า แม้พลเอก มูชาร์ราฟ จะมีคดีความต่างๆ ติดตัวอยู่หลายคดี แต่ก็ยังไม่มีคำตัดสินใดๆ จากศาลออกมา ดังนั้น อดีตผู้นำปากีสถานจึงมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งได้
ก่อนหน้านี้เมื่อวันศุกร์ (5) คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่อนุมัติให้ มูชาร์ราฟ ลงสมัครรับเลือกตั้งในเมืองกาซูร์ จังหวัดปัญจาบ เนื่องจากยังพัวพันคดีอาญา และมูชาร์ราฟก็มีแนวโน้มที่จะถูกตัดสินว่า ขาดคุณสมบัติในอีก 3 เขตเลือกตั้งที่เขาวางแผนจะลงสมัครด้วย โดยเจ้าหน้าที่เลือกตั้งผู้ปฏิเสธที่จะเผยชื่อ อธิบายว่า คำตัดสินดังกล่าวมีพื้นฐานจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ผู้สมัครจะต้องมีประวัติไม่ด่างพร้อย อีกทั้ง มูชาร์ราฟ เองก็ไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดที่ตนมีอยู่อย่างครบถ้วน ส่งผลให้อนาคตทางการเมืองของมูชาร์ราฟดูจะมืดมนในทันที ขณะเดียวกัน อดีตผู้นำปากีสถานยังถูกขู่เอาชีวิตจากกลุ่มนักรบตอลิบานด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ มูชาร์ราฟถูกตั้งข้อหาไม่ให้ความคุ้มกันอย่างเพียงพอต่ออดีตนายกรัฐมนตรีหญิง เบนาซีร์ บุตโต ซึ่งถูกลอบสังหารในปี 2007 และยังถูกกล่าวหาว่าพัวพันการตายของหัวหน้ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนจังหวัดบาลูจิสถาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ซึ่งมูชาร์ราฟยังยืนยันความบริสุทธิ์ของตน
ขณะที่หนึ่งในคำร้องที่ศาลสูงจะพิจารณาวันจันทร์นี้ (8) กล่าวหาว่า มูชาร์ราฟ มีความผิดฐานกบฏ จากการสั่งปลดผู้พิพากษาอาวุโสหลายรายและประกาศภาวะฉุกเฉิน ในขณะที่ตนดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ โดย อิฟติคอร์ เชาธรี ผู้พิพากษาสูงสุดปากีสถานคนปัจจุบัน เคยถูกมูชาร์ราฟ ปลดออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2007 หลังออกมาคัดค้านแผนยืดเวลาดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี