เอเอฟพี - สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีมติผ่านร่างสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธฉบับแรก เพื่อเป็นเครื่องมือในการปกป้องสิทธิมนุษยชน และสร้างความโปร่งใสให้แก่อุตสาหกรรมอาวุธทั่วโลก
สมัชชาใหญ่ยูเอ็นผ่านร่างสนธิสัญญาด้วยคะแนน 154 ต่อ 3 เสียง โดยมีเพียงซีเรีย, เกาหลีเหนือ และอิหร่านเท่านั้นที่โหวตไม่เห็นด้วย ขณะที่ประเทศผู้ค้าอาวุธรายใหญ่ของโลกอย่างจีนและรัสเซีย รวมถึงประเทศผู้ซื้ออย่างอียิปต์และอินเดีย อยู่ในกลุ่ม 23 ประเทศที่งดออกเสียง
สนธิสัญญาดังกล่าวระบุกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมการค้าอาวุธทั่วโลก ซึ่งมีมูลค่าราว 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ครอบคลุมทั้งรถถัง, ยานเกราะ, ปืนที่มีขนาดลำกล้องใหญ่, เครื่องบินขับไล่, เฮลิคอปเตอร์โจมตี, เรือรบ, ขีปนาวุธ, ฐานยิงขีปนาวุธ ตลอดจนอาวุธเบาทุกประเภท และยังถือเป็นสนธิสัญญาควบคุมอาวุธนานาชาติฉบับแรก นับตั้งแต่มีสนธิสัญญาห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear Test Ban Treaty – CNTB) เมื่อปี 1996
ร่างสนธิสัญญาจะเปิดให้ลงนามตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป และจะมีผลบังคับเป็นกฎหมายก็ต่อเมื่อชาติสมาชิกให้สัตยาบันอย่างน้อย 50 ประเทศ ซึ่งกระบวนการที่ว่านี้อาจใช้เวลา 1-2 ปี
ประเทศที่เป็นภาคีสนธิสัญญาจะต้องตั้งหน่วยงานควบคุมการส่งออกอาวุธ และมีมาตรการตรวจสอบได้ว่า อาวุธที่ส่งออกจากประเทศตนไม่ถูกใช้ไปเพื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, อาชญากรรมสงคราม หรือตกไปอยู่ในมือกลุ่มอาชญากรและผู้ก่อการร้าย
บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวชื่นชมสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธฉบับนี้ว่าเป็น “ความสำเร็จทางการทูตครั้งประวัติศาสตร์ และเป็นความฝันสูงสุดที่เพียรพยายามมานานหลายปี”
“มันจะเป็นเครื่องมืออันทรงพลังชิ้นใหม่ที่จะช่วยยับยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ... และจะเป็นแรงกระตุ้นไปสู่การปลดอาวุธ และลดการสะสมอาวุธทั่วโลกต่อไป”
อย่างไรก็ดี หลี่ เป่าตง ผู้แทนจีนประจำองค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า ปักกิ่งไม่เห็นด้วยกับ “การผลักดันสนธิสัญญาพหุภาคีผ่านเวทีสมัชชาใหญ่ยูเอ็น... ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดี แต่ควรใช้วิธีเจรจาเพื่อขอฉันทามติมากกว่า”
ด้านสถาบัน Conflict Awareness Project ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยอิสระชี้ว่า สนธิสัญญาฉบับนี้ยังมีช่องโหว่สำหรับพวก “คนกลาง” ในแวดวงการค้าอาวุธ
รัสเซียยังไม่ตัดสินใจว่าจะลงนามรับรองสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธฉบับนี้หรือไม่ เพราะเล็งเห็นถึงช่องโหว่ ตลอดจนข้อกำหนดที่น่ากังขา เช่น การไม่เอ่ยถึงวิธีควบคุมอาวุธมิให้ตกไปถึงมือกลุ่มที่มิใช่รัฐ
มอสโกนั้นเกรงว่าอาวุธจะตกไปอยู่ในมือกบฎเชเชน แม้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แหล่งอาวุธหลักของกลุ่มกบฎในเชชเนียก็คือซัพพลายเออร์ในรัสเซีย หรือนายทหารคอรัปชันในกองทัพรัสเซียเองก็ตาม