เอเอฟพี - โมอาซ อัล-คอติบ ประธานองค์กรกลางกบฏซีเรีย ได้รับสถานะเป็นผู้แทนซีเรียประจำสันนิบาตอาหรับ วานนี้ (26) โดยบรรดาผู้นำชาติอาหรับซึ่งเข้าประชุมที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ยังให้สิทธิ์แก่รัฐสมาชิกในการส่งอาวุธช่วยเหลือกบฏซีเรียด้วย
ที่ประชุมสันนิบาตอาหรับ “ยืนยันสิทธิของรัฐสมาชิกในการที่จะป้องกัน หรือใช้มาตรการทางทหาร เพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของประชาชนชาวซีเรียและกองทัพปลดปล่อยซีเรีย” มติที่ประชุม ระบุ
อย่างไรก็ดี “ความพยายามเพื่อให้ได้ซึ่งแนวทางแก้ไขทางการเมือง ต้องมาเป็นอันดับแรก”
เสียงปรบมือดังกึกก้องหลังที่ประชุมสันนิบาตอาหรับประกาศยอมรับสถานะผู้แทนซีเรียของ คอติบ โดยเขายังเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มอบเก้าอี้ผู้แทนซีเรียให้แก่ฝ่ายกบฏด้วย
ประธานแนวร่วมแห่งชาติซีเรีย (Syrian National Coalition) ซึ่งสร้างความสั่นสะเทือนต่อฝ่ายกบฏด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (24) ยืนยันว่าขณะนี้ตนยังคงมีตำแหน่งเป็นผู้นำองค์กรกบฏซีเรียอยู่
“เราใคร่ร้องขอการสนับสนุนทุกรูปแบบจากมิตรสหายและพี่น้องทุกประเทศ ซึ่งรวมถึงสิทธิของเราที่จะป้องกันตนเอง รวมไปถึงเก้าอี้ผู้แทนซีเรียในองค์การสหประชาชาติ และในองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ด้วย”
คอติบ ยังขอให้มีการ “แช่แข็ง” เงินทุนที่ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด “ขโมย” ไปจากประชาชน ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยืนยันด้วยว่าชาวซีเรียต้องเป็นผู้กำหนดอนาคตของชาติเอง
“พวกเขาถามว่าจะเอาใครมาปกครองซีเรีย นั่นคือสิ่งที่ชาวซีเรียต้องตัดสินใจเอง ไม่ใช่รัฐอื่นใดในโลก” คอติบกล่าว โดยแฝงนัยถึงประเทศเจ้าภาพอย่างกาตาร์ และซาอุดีอาระเบียซึ่งมีอิทธิพลอย่างสูงต่อฝ่ายกบฏ
คอติบมิได้อธิบายเรื่องการประกาศลาออกของตนเมื่อไม่กี่วันก่อน โดยกล่าวเพียงว่าจะไปจัดการให้เรียบร้อยหลังเสร็จสิ้นการประชุมแล้ว ขณะที่โฆษกกบฏ คอลิด อัล-ซาเลห์ ระบุว่า การลาออกของประธานแนวร่วมแห่งชาติ “ไม่ถูกรับ” และสมาชิกส่วนใหญ่ก็ยังต้องการให้ คอติบ เป็นผู้นำองค์กรต่อไปในเวลานี้
สันนิบาตอาหรับมีมติระงับสมาชิกภาพของซีเรีย หลังประธานาธิบดีอัสซาดไม่หยุดใช้ความรุนแรงปราบปรามพลเมืองที่ลุกฮือขับไล่รัฐบาลของเขา ส่งผลให้เก้าอี้ผู้แทนซีเรียในสันนิบาตอาหรับว่างลงมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2011
การประท้วงซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อกลางเดือนมีนาคม ปี 2011 ค่อยๆ ยกระดับเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มกบฏติดอาวุธกับทหารฝ่ายรัฐบาล และทวีความรุนแรงจนเป็นสงครามกลางเมืองซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 70,000 คน ตามข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ