รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์- อิหร่านเผย การเจรจากับชาติมหาอำนาจของโลกรอบล่าสุดเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ถือเป็น “ก้าวย่างในเชิงบวก”
รายงานข่าวระบุว่า ซาอีด จาลิลี หัวหน้าคณะผู้แทนการเจรจาของอิหร่านออกมาเปิดเผยในวันพุธ (27) หลังเสร็จสิ้นการหารือกับผู้แทนของบรรดาชาติมหาอำนาจของโลกนาน 2 วันที่เมืองอัลมาตี เมืองหลวงเก่าของคาซัคสถาน ในเอเชียกลาง
จาลิลี วัย 47 ปี ซึ่งเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงสูงสุดของอิหร่าน และเคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้านกิจการยุโรปและอเมริกาให้กับรัฐบาลเตหะรานมาก่อนเผยผ่านคำแถลงว่า หลังบรรยากาศของการหารือในวันที่ 26-27 กุมภาพันธ์ที่นครอัลมาตี ระหว่างผู้แทนของอิหร่าน กับผู้แทนของ 6 ชาติมหาอำนาจ ที่ประกอบไปด้วยสหรัฐฯ ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ รัสเซีย และจีน ต่างดำเนินไปด้วยดีและเต็มไปด้วยสัญญาณในเชิงบวกและสร้างสรรค์
หัวหน้าคณะผู้แทนการเจรจาของอิหร่านยังเผยว่า จะมีการหารือรอบใหม่ในระดับ “ผู้เชี่ยวชาญ” ระหว่างอิหร่านและมหาอำนาจทั้ง 6 ชาติที่นครอิสตันบูลของตุรกีในวันที่ 18 มีนาคมนี้ ก่อนที่เวทีหารือทางการเมืองเกี่ยวกับโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน จะมีขึ้นอีกครั้งในช่วงวันที่ 5-6 เมษายน
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านถูกจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950 โดยความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและหลายชาติในยุโรป แต่หลังเกิดการโค่นล้มพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวีและมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่การเป็น “สาธารณรัฐอิสลาม” ในอิหร่านเมื่อปี ค.ศ.1979 รัฐบาลสหรัฐฯและโลกตะวันตกกลับเปลี่ยนท่าทีหันมากดดันให้อิหร่านยกเลิกโครงการนิวเคลียร์เนื่องจากเกรงว่า ระบอบการปกครองใหม่ของอิหร่านที่ไม่เป็นมิตรกับโลกตะวันตกนั้น อาจใช้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวเพื่อพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แม้รัฐบาลเตหะรานจะยืนยันมาโดยตลอดว่า โครงการนิวเคลียร์ของตนมีวัตถุประสงค์หลักในด้านพลังงานเท่านั้น