เอเจนซี - ชีวิตที่สะดวกสบายกว่าคนรุ่นก่อน ทำให้เอื้ออำนวยต่อการตัดสินใจอย่างเปิดกว้างมากขึ้น ประกอบกับกระแสปลดคนในธุรกิจการเงินทั่วโลก จึงกลายเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งซึ่งทำให้หนุ่มสาวชาวสิงคโปร์ ตัดสินใจทวนกระแสสังคมที่มุ่งให้นิยมวัตถุที่รัฐบาลปลูกฝังมายาวนาน เพื่อเดินไปตามเส้นทางที่ตนเองต้องการ
ออง ฮุย จวน ใช้เวลา 4 ปีทำงานให้แบงก์อังกฤษแห่งหนึ่งในแดนลอดช่อง ก่อนตัดสินใจลาออกเมื่อปีที่แล้วเพื่อเดินตามความปรารถนาของเธอเองที่จะทำงานกับเด็กๆ ซึ่งแน่นอนว่า เป็นการตัดสินใจที่ไม่ปกติและน่าประหลาดใจสำหรับนครรัฐที่คนส่วนใหญ่มุ่งมั่นกับความสำเร็จแห่งนี้
ออง วัย 25 ปี เป็นเพียงหนึ่งในหนุ่มสาวสิงคโปร์จำนวนมากขึ้นๆ ที่หันหลังให้ความสุขแบบวัตถุนิยมซึ่งเรียกขานกันว่า “ความใฝ่ฝันของสิงคโปร์” (Singapore Dream) อันประกอบด้วย 5 C ได้แก่ cash (เงินสด), car (รถยนต์), credit card (บัตรเครดิต), condominium (คอนโดมิเนียม) และ country club membership (การเป็นสมาชิกคันทรีคลับ) พวกเขาและเธอเหล่านี้ตัดสินใจมุ่งหน้าทำในสิ่งที่ตัวเองพึงพอใจ แม้จะได้ค่าตอบแทนน้อยลงก็ตาม
“ฉันอยากหนีจากการเข้างาน 9 โมงเช้ากลับบ้าน 5 โมงเย็น การรอรับโบนัสและการเลื่อนตำแหน่งปีแล้วปีเล่า ซึ่งไม่ได้น่าสนใจเลยสำหรับฉัน
“ฉันไม่จำเป็นต้องรวยมาก ขอแค่มีพอใช้เองและให้ครอบครัว และมีเวลาที่ยืดหยุ่นเหมือนอย่างเช่นตอนนี้นี่แหละ” ออง บัณฑิตสาขาการเงินและการธนาคารบอก
แต่ในขณะที่คนหนุ่มสาวอาจต้องการชะลอจังหวะชีวิตลง รัฐบาลสิงคโปร์กลับไม่เคยคิดแบบนั้น นานมาแล้วที่สิงคโปร์พึ่งพิงประชาชนเป็นแหล่งทรัพยากรหลักในการเปลี่ยนผ่านประเทศจากเมืองท่าริมทะเลที่มีทรัพยากรธรรมชาติจำกัด จนกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินในระยะเวลาไม่กี่สิบปี ภายหลังประกาศเอกราชในปี 1965
เวลานี้รัฐบาลยังเน้นย้ำพวกทักษะอย่างเช่นวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในโรงเรียน โดยนักเรียนสิงคโปร์ทำคะแนนยอดเยี่ยมในการทดสอบระหว่างประเทศเสมอมา
สภาพการณ์ต่างๆ ที่กล่าวมานี้แหละ เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งซึ่งหนุนส่งให้สิงคโปร์กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่รวยที่สุดของโลกในปัจจุบัน ด้วยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต่อหัว 50,123 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2011 หรือสูงกว่าในปี 1960 ถึง 48 เท่า
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลสิงคโปร์เพิ่งออก “เอกสารปกขาว” ความยาวเกือบ 80 หน้า ซึ่งยังคงเรียกร้องให้แรงงานเพิ่มประสิทธิภาพ และตั้งเป้าการเติบโตของประชากรเป็น 30% ในปี 2030
กระนั้น หนุ่มสาวบางส่วนเริ่มรู้สึกแปลกแยกจากสิ่งที่ถือว่าเป็นเส้นทางดั้งเดิมสู่ “ความสำเร็จ” อันประกอบด้วยการเข้าเรียนโรงเรียนดีๆ ทำงานได้เงินเดือนสูงๆ และจากนั้นก็วาดหวังว่าลูกๆ จะต่อยอดความสำเร็จของตน
ชุง เหว่ย เคง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางด้านสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยการจัดการแห่งสิงคโปร์ ชี้ว่า จากการที่รัฐบาลให้ความสำคัญเน้นหนักที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคมแดนลอดช่องจึงกลายเป็นสังคมวัตถุนิยมมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ความที่รากฐานสังคมกำลังมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ คนหนุ่มสาวจึงมีช่องทางเยอะขึ้นในการคิดต่างออกไปจากกระแสหลัก
แอนเดรีย รอสส์ กรรมการผู้จัดการประจำสิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ของบริษัทที่ปรึกษาด้านการสรรหาบุคลากร โรเบิร์ต วอลเตอร์ส ก็ชี้ว่า ขณะนี้ปรากฏสัญญาณที่หนุ่มสาวมากขึ้นทุกทีปลีกตัวจากกระแสหลัก สาเหตุส่วนหนึ่งคือ การที่บริษัทการเงินหลายแห่งปลดคนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาและยังคงปลดอยู่ในทุกส่วนงานทั่วโลก ทำให้หนุ่มสาวแดนลอดช่องมั่นใจมากขึ้นที่จะหางานในอุตสาหกรรมที่ตนต้องการทำจริงๆ เสียเลย
ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ยืนยันแนวโน้มเช่นนี้ก็คือ สถาบันการศึกษาทางศิลปะของสิงคโปร์ “สกูล ออฟ อาร์ตส์” ซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2008 ในช่วง 3 ปีมานี้ มีผู้สมัครเรียนราว 1,000 คน ทั้งที่เปิดรับปีละ 200 คนเท่านั้น
แมรี่แอนน์ ลู ศิลปินวัย 20 ปีปลายๆ บอกว่า หนุ่มสาวอาจมีอิสรภาพมากขึ้นในการทำตามความต้องการของตัวเอง เนื่องจากถูกเลี้ยงดูมาในสภาวะที่สะดวกสบายยิ่งกว่าคนรุ่นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย
ตัน เอิร์น เซอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เสริมว่า การทวนกระแสแบบนี้จะยังคงเป็นส่วนน้อยในสังคม เพราะมีเพียงบางคนเท่านั้นที่สามารถทำได้เนื่องจากมีแต้มต่อ เช่น มีมรดก คู่ชีวิตรวย มีเงินเก็บ
กระนั้น ชุงมองว่า ในที่สุดแล้วคนเหล่านี้อาจจะมีฐานะเป็นผู้บุกเบิกสู่พรมแดนใหม่ๆ
“เมื่อมีหนุ่มสาวมากขึ้นตัดสินใจสวนกระแส และเมื่อคนเหล่านั้นจำนวนมากขึ้นรู้สึกพอใจกับการตัดสินใจของตัวเอง วันหนึ่งอาจถึงจุดพลิกผันที่คนรุ่นต่อไปเห็นดีเห็นงามกับทางเลือกใหม่เหล่านั้น”