xs
xsm
sm
md
lg

ผลสำรวจชี้ ไทยติดอันดับ 3 “ตลาดเฟื่องฟูใหม่”ศักยภาพศก.สูงสุดในโลก แต่หนี้ท่วมหัว “เกือบครึ่ง”ของจีดีพี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-ผลสำรวจล่าสุดในต่างประเทศระบุ ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงเป็น “อันดับที่ 3” ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ 20 แห่ง ที่น่าจับตามองที่สุดของโลก เป็นรองเพียงแค่ สาธารณรัฐประชาชนจีน และเกาหลีใต้เท่านั้น แต่พบข้อมูล ไทยจะมีหนี้ท่วมหัว ยอดหนี้ภาครัฐพุ่งส่อพุ่งสูงถึง 49.4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

รายงานข่าวของนิตยสาร “บลูมเบิร์ก มาร์เก็ตส์” ฉบับล่าสุด ซึ่งอ้างผลการสำรวจของบริษัทวิจัย “อีพีเอฟอาร์ โกลบอล” ที่มีฐานอยู่ในเมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเซ็ตต์สของสหรัฐฯ ระบุว่า ประเทศไทยติดอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ถือเป็นตลาดเฟื่องฟูใหม่ (Emerging Markets) ที่น่าจับตามองที่สุด 20 แห่งของโลก และยังถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนสูงที่สุด สูงกว่าเพื่อนบ้านทุกชาติในกลุ่มอาเซียน (ยกเว้น สิงคโปร์ ที่มีสถานะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว)

ผลสำรวจดังกล่าวระบุว่า ไทยได้คะแนนภาพรวมด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจและการลงทุนรวมทั้งสิ้น 58.7 คะแนน ถือเป็นคะแนนสูงสุดอันดับ 3 ใน 20 ประเทศเฟื่องฟูใหม่เป็นรองเพียงจีนที่ได้ 77.5 คะแนน และเกาหลีใต้ที่ได้ 67.4 คะแนน โดยข้อมูลของ อีพีเอฟอาร์ โกลบอล ระบุ ประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ระหว่างปี ค.ศ.2013-2017 รวมกว่า25.9 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของประเทศน่าจะอยู่ที่ 2.7 เปอร์เซ็นต์ แม้สัดส่วนหนี้ภาครัฐของไทยอาจพุ่งสูงถึง 49.4 เปอร์เซ็นต์ หรือ “เกือบครึ่งหนึ่ง ”ของจีดีพีก็ตาม

ทั้งนี้ ประเทศกำลังพัฒนาที่ถูกระบุ เป็น “ตลาดเฟื่องฟูใหม่” ที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจและการลงทุนสูงที่สุดในโลก 20 แห่งจากการสำรวจล่าสุด ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลีใต้ ไทย เปรู สาธารณรัฐเช็ก มาเลเซีย ตุรกี ชิลี รัสเซีย อินโดนีเซีย โคลอมเบีย โปแลนด์ นามิเบีย แซมเบีย แอฟริกาใต้ เม็กซิโก บราซิล ฮังการี โมร็อกโก และฟิลิปปินส์ตามลำดับ

และหากเปรียบเทียบเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ ที่เป็นสมาชิกของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจสูงที่สุดในภูมิภาค จากการได้คะแนนรวม 58.7 คะแนน รองลงมา คือ มาเลเซีย ( 51.4คะแนน),อินโดนีเซีย (49.1 คะแนน),และฟิลิปปินส์ (38.1 คะแนน)

อย่างไรก็ดี ไทยถูกระบุว่าจะกลายเป็นประเทศที่มีสัดส่วนของหนี้สินภาครัฐสูงเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียนที่ 49.4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เป็นรองเพียงแค่มาเลเซียที่มีสัดส่วนหนี้สินภาครัฐอยู่ที่ 54.6 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีขณะที่อินโดนีเซียประเทศมุสลิมใหญ่ที่สุดในโลกมีหนี้สินภาครัฐต่ำสุดในกลุ่มอาเซียนเพียง 20.0 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเท่านั้น




กำลังโหลดความคิดเห็น