เดอะจาการ์ตาโพสต์ - พีทีทีอีพี ออสเตรเลเชีย บริษัทลูกของ ปตท.สผ. ปฏิเสธข้อกล่าวหาของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเรื่องติดสินบนนักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ชาวอินโดนีเซีย เพื่อให้ปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วไหลในทะเลติมอร์
ตามข้อมูลที่ถูกส่งให้หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ของอินโดนีเซียในวันจันทร์ (28) ที่ผ่านมา บริษัท พีทีทีอีพี ออสเตรเลเชีย (พีทีทีอีพี เอเอ) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ถูกศาลแขวงเมืองดาร์วินสั่งปรับเป็นเงิน 10,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ในปี 2012 เกี่ยวกับประเด็นด้านความปลอดภัย
พีทีทีอีพี เอเอระบุว่า คดีดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับข้อกล่าวหาสร้างมลพิษ และทำลายสิ่งแวดล้อม
“พีทีทีอีพี เอเอ ไม่ทราบเรื่องการดำเนินคดีในศาลใดๆ ของออสเตรเลีย ซึ่งเริ่มขึ้นในฐานะตัวแทนของฝ่ายอินโดนีเซีย เพื่อเรียกร้องค่าชดเชย หรือการบรรเทาทุกข์อื่นๆ อันเชื่อมโยงกับอุบัติเหตุที่มอนทานา อย่างที่ถูกอ้างในรายงานของสื่ออินโดนีเซียหลายฉบับ” บริษัทแถลง
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มโอเชียน วอชต์ อินโดนีเซีย (OWI) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในเมืองคูปัง เผยว่าได้ยื่นเอกสารร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการปราบปรามการคอร์รัปชัน (เคพีเค) เกี่ยวกับการให้เงินสินบนแก่หลายฝ่ายในแดนอิเหนา โดยบริษัทผู้ผลิตก๊าซและน้ำมันรายนี้
กลุ่มโอเชียนวอชต์อ้างว่า มหาวิทยาลัยแถวหน้าแห่งหนึ่งของประเทศ ผู้รับผิดชอบในการเขียนรายงานฉบับหนึ่ง ที่ระบุว่าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าเหตุน้ำมันรั่วไหลทำให้สภาพแวดล้อมทางน้ำของอินโดนีเซียถูกทำลาย
ขณะที่ บริษัทลูกของ ปตท.สผ.แห่งนี้ลดเงินช่วยเหลือในกองทุนรับผิดชอบทางสังคม (ซีเอสอาร์) สำหรับเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วไหลในอินโดนีเซีย จาก 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 3 ล้านดอลลาร์ เพื่อไปจ่ายให้กับมหาวิทยาลัยดังกล่าวในการทำวิจัยลับ โอเชียนวอชต์เสริม
นอกจากนี้ กลุ่มดังกล่าวยังระบุว่าการที่กระทรวงสิ่งแวดล้อม และกระทรวงต่างประเทศยืนกรานลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันกับพีพีทีอีพี เอเอ ก็ถือเป็นสินบนรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากบันทึกนี้กำหนดเงื่อนไขว่าไม่มีฝ่ายใดในอินโดนีเซียสามารถยื่นเรื่องประท้วงเกี่ยวกับเหตุน้ำมันรั่วไหล ที่ทำให้ทะเลติมอร์มีมลพิษได้ ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ บริษัทพีพีทีอีพี เอเอแจงว่า รัฐบาลออสเตรเลียตั้งโครงการดูแลสิ่งแวดล้อมระยะยาว เพื่อตรวจวัดผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วไหลมอนทารา และได้ผลสรุปว่าจุดที่ใกล้ชายฝั่งแดนอิเหนาที่สุด ซึ่งน้ำมันจากแหล่งมอนทาราจะไปถึงอยู่ห่างจากเกาะโรเตของอินโดนีเซียไปราว 94 กิโลเมตรทีเดียว
ทั้งนี้ น้ำมันดิบหลายพันบาร์เรลทะลักลงสู่ทะเลติมอร์เป็นเวลานานเกือบ 10 สัปดาห์ หลังเกิดอุบัติเหตุที่แท่นขุดเวสต์ แอตลาส ในบ่อมอนทาราของบริษัทลูก ปตท.สผ. เมื่อปี 2009 ซึ่งนักสิ่งแวดล้อมชี้ว่า น้ำมันที่รั่วไหลนั้นกินพื้นที่เกือบ 90,000 ตารางกิโลเมตร ไกลถึงน่านน้ำอินโดนีเซีย