เอเจนซี - นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ ให้สัญญาในวันพุธ (23 ม.ค.) หากพรรคคอนเซอร์เวทีฟของเขาชนะการเลือกตั้งในปี 2015 ก็จะจัดทำประชามติเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเลือกว่าจะยังคงเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือถอนตัวออกไป โดยเขาย้ำจะพยายามผลักดันให้อังกฤษเป็นสมาชิกต่อ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอียูก็ต้องปฏิรูปอย่างถอนรากถอนโคน และทบทวนเงื่อนไขเพื่อให้ความเป็นธรรมสำหรับสมาชิกที่ไม่ได้ใช้เงินยูโร ปรากฏว่าคำปราศรัยของเขาคราวนี้เรียกเสียงตอบโต้รุนแรงจากหลายชาติอียู ซึ่งระบุว่าแสดงให้เห็นถึงท่าทีเห็นแก่ตัวและเย่อหยิ่ง
คาเมรอน ยุติการคาดเดาที่ยืดเยื้อมานานนับเดือน ด้วยการระบุในคำปราศรัยของเขาว่า ถ้าพรรคของเขาชนะ ก็จะจัดลงประชามติดังกล่าวในช่วงปี 2015-2017 ถึงแม้มีคำเตือนจากหลายฝ่ายว่าการกระทำเช่นนี้อาจบ่อนทำลายโอกาสทางการทูตและเศรษฐกิจของอังกฤษ และเป็นการโดดเดี่ยวตัวเองจากพันธมิตรในอียู
“ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนชาวอังกฤษจะต้องได้แสดงความคิดเห็นของพวกเขาออกมา ถึงเวลาที่เราจะจัดการกับคำถามเกี่ยวกับอังกฤษและยุโรปให้เรียบร้อยเสียที” คาเมรอนเสริมว่า พรรคของเขาจะหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งในปี 2015 โดยให้สัญญาว่าจะเปิดเจรจากับทางอียูซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เพื่อตกลงเรื่องเงื่อนไขการเป็นสมาชิกของอังกฤษกันใหม่
นายกรัฐมนตรีอังกฤษสำทับว่า ต้องการให้ลอนดอนดึงอำนาจบางอย่างกลับมาจากบรัสเซลส์ ถึงแม้เป็นข้อเสนอที่ประเทศยุโรปอื่นๆ พากันคัดค้าน
อย่างไรก็ดี คาเมรอนจะจัดให้มีการลงประชามติหรือไม่ยังเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน เช่นเดียวกับโอกาสที่พรรคคอนเซอร์เวทีฟจะได้ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 2015 เนื่องจากโพลล่าสุดชี้ว่าพรรคของคาเมรอนมีคะแนนนิยมตามหลังพรรคเลเบอร์ นอกจากนี้การที่รัฐบาลผสมของเขากำลังผลักดันมาตรการลดการใช้จ่ายของรัฐเพื่อลดยอดขาดดุลงบประมาณก้อนใหญ่ ยังมีแนวโน้มสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน คำสัญญาของคาเมรอนแม้ดูเหมือนถูกอกถูกใจสมาชิกจำนวนมากในพรรคของเขา แต่ก็น่าจะสร้างความบาดหมางกับพรรคลิเบอรัล เดโมแครต ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลและมีนโยบายสนับสนุนอียู
คาเมรอนระบุว่า หากอังกฤษถอนตัวจากอียูแล้ว มันก็จะเป็น “ตั๋วเที่ยวเดียว ไม่มีการหวนกลับ” อย่างไรก็ดี เขาสำทับว่า ตนสนับสนุนสุดกำลังให้อังกฤษ อยู่ในอียูต่อไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอียูต้องปฏิรูปอย่างถอนรากถอนโคน
นายกฯ อังกฤษแจงว่า วิกฤตหนี้ยูโรโซนบีบให้อียูต้องเปลี่ยนแปลง และอังกฤษจะต่อสู้เพื่อให้แน่ใจว่า ได้กฎใหม่ซึ่งเป็นธรรมสำหรับประเทศที่ไม่ได้ใช้เงินตราสกุลเดียวของยุโรป ทั้งนี้ อังกฤษเป็นสมาชิกใหญ่ที่สุดในบรรดา 10 ชาติอียูที่ยังไม่ได้ใช้เงินยูโร
คาเมรอนยังบอกอีกว่า การสนับสนุนอียูของคนอังกฤษวันนี้ “เบาบางมาก” โดยอ้างอิงผลสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ที่บ่งชี้ว่า เสียงส่วนใหญ่ที่เกินครึ่งมาเล็กน้อยจะโหวตให้อังกฤษออกจากอียู
เขาปฏิเสธข้อกล่าวหาว่า กำลังทำให้จุดยืนของอังกฤษในอียูคลอนแคลน และทำให้แวดวงธุรกิจรู้สึกว่าไม่มีความแน่นอน โดยบอกว่า การหลีกเลี่ยงการทำประชามติ กลับจะทำให้มีแนวโน้มมากขึ้นที่อังกฤษจะออกจากอียู
ทางด้านปฏิกิริยาต่อการแถลงของคาเมรอนคราวนี้ พวกสมาชิกอียูรายสำคัญๆ ต่างแสดงอาการเย็นชา โดยเฉพาะรัฐมนตรีต่างประเทศ โฃรองต์ ฟาบิอุส ของฝรั่งเศส ถึงกับแถลงว่าเขาได้เคยพูดในระหว่างการประชุมกับคณะนักธุรกิจอังกฤษเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ถ้าอังกฤษต้องการถอนตัวออกไปจากยุโรป เราก็จะคลี่พรมแดงต้อนรับการตัดสินใจของพวกคุณ” ซึ่งเป็นการย้อนคำพูดของคาเมรอนเอง ที่ครั้งหนึ่งเคยใช้คำพูดเช่นนี้เพื่อเชื้อเชิญชาวฝรั่งเศสซึ่งไม่พอใจอัตราภาษีสูงลิ่วในแดนน้ำหอม ให้โยกย้ายมาอยู่ในอังกฤษ
สำหรับรัฐมนตรีต่างประเทศ กุยโด เวสเตอร์เวลล์ ของเยอรมนี บอกว่าประเทศของเขาต้องการให้อังกฤษยังคงเป็นสมาชิกที่สมบูรณ์ของอียู แต่ลอนดอนจะต้องไม่คาดหวังว่าตนเองสามารถเลือกหยิบเอาเฉพาะบางแง่มุมของการเป็นสมาชิกตามที่ตนเองปรารถนาได้
“ไม่มีหรอก ทางเลือกแบบเด็ดเฉพาะบางเม็ดที่เราชอบเหมือนเราเด็ดผลเชอร์รี่” เวสเตอร์เวลล์สำทับ เช่นเดียวกับรัฐมนตรีว่าการอีก 2 คนของฝรั่งเศส ซึ่งกล่าวหาคาเมรอนว่า กำลังปฏิบัติต่อยุโรปเหมือนเป็น “เมนูอาหารจานเดี่ยว” ที่อังกฤษจะเลือกได้ตามใจชอบ
ทางด้านผู้นำภาคธุรกิจก็ออกมาย้ำคำเตือนที่ว่า การที่อังกฤษต้องอยู่ในภาวะไม่แน่นอนไปอีกหลายปีว่าจะอยู่ในอียูต่อไปหรือไม่เช่นนี้ จะสร้างความเสียหายให้บรรยากาศการลงทุน
ขณะที่มีสัญญาณบ่งชี้ว่า แม้กระทั่งสหรัฐฯก็ระบุต้องการให้อังกฤษอยู่ภายในอียู เพื่อ “ส่งเสียงอย่างแข็งขัน” ต่อไป
กระนั้นก็ใช่ว่าจะมีแต่เสียงต่อต้านคัดค้านอยู่ข้างเดียว นายกรัฐมนตรี ปีเตอร์ เนกัส แห่งสาธารณรัฐเช็ก ที่เป็นสมาชิกอียูอีกรายเดียวนอกเหนือจากอังกฤษ ซึ่งยังไม่ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงสหภาพการคลังของอียู แถลงว่า เช็กมีทัศนะเช่นเดียวกับอังกฤษในเรื่องที่ว่าอียูควรจะยืดหยุ่นและเปิดกว้างมากกว่านี้
ส่วนนายกรัฐมนตรี มาร์ก รุตต์ ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีท่าทีเห็นด้วยกับความวิตกของคาเมรอน ทว่าไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นอย่างชัดเจนเท่า กล่าวว่า การพูดของคาเมรอนคราวนี้เป็น “คำปราศรัยที่หนักแน่น” ซึ่งเสนอแนวความคิดทางการปฏิรูปดีๆ เอาไว้หลายอย่าง