xs
xsm
sm
md
lg

Focus: มาเลเซียสอบข่าวลือรัฐบาล “แจกบัตรประชาชน” ผู้อพยพผิดกฎหมายแลก “เสียงโหวต”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผนที่มาเลเซีย
เอเอฟพี - การให้สัญชาติแก่คนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเพื่อแลกเสียงโหวตให้กับพรรครัฐบาลผสม (บีเอ็น) เป็นข่าวลือที่แพร่สะพัดในมาเลเซียมานานนับสิบปี ล่าสุดคณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนกรณีดังกล่าวได้เผยรายละเอียดของข้อกล่าวหา ซึ่งทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ต้องออกมาปฏิเสธเพื่อกู้ชื่อเสียงของพรรค ก่อนจะถึงศึกเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่าจะเป็นความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับพรรค บีเอ็น ที่ครองอำนาจในมาเลเซียมานานถึง 56 ปี

สัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมาธิการสอบสวนกรณีผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายในรัฐซาบาห์เริ่มสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นวันแรก โดยมีอดีตเจ้าหน้าที่รัฐออกมายอมรับว่า พวกเขาเคยให้สัญชาติแก่ผู้อพยพชาวฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียในรัฐซาบาห์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสองรัฐของมาเลเซียบนเกาะบอร์เนียว

สื่อท้องถิ่นอ้างคำแถลงของอดีตเจ้าหน้าที่คนหนึ่งซึ่งเผยว่า ในปี 1993 มีการแจกบัตรประจำตัวประชาชนราว 100,000 ใบแก่ผู้ที่หลบหนีเข้าเมือง เพื่อให้คนกลุ่มนี้ไปใช้สิทธิ์โหวตให้รัฐบาลในการเลือกตั้งปี 1994 ขณะที่เจ้าหน้าที่อีกคนยอมรับว่า ได้ออกบัตรประชาชนไปหลายพันใบในช่วงทศวรรษ 1990

จากกรณีดังกล่าวทำให้คณะกรรมาธิการออกคำสั่งสอบสวนอดีตนายกรัฐมนตรี มหาธีร์ โมฮาหมัด ในข้อหากบฎ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายนี้

มหาธีร์ ครองอำนาจมาเลเซียยาวนานถึง 22 ปีด้วยยุทธศาสตร์การเมืองที่แข็งกร้าว ก่อนจะพ้นตำแหน่งในปี 2003

นากรัฐมนตรี นาจิบ ซึ่งเป็นผู้นำมาเลเซียคนปัจจุบัน กำลังเร่งกู้ภาพลักษณ์ให้แก่พรรครัฐบาล บีเอ็น ที่ความนิยมเริ่มเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ ก่อนจะประกาศวันเลือกตั้งทั่วไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ข่าวลือเรื่อง “โปรเจ็กต์ ไอซี” หรือแผนให้สัญชาติแก่คนต่างด้าวเพื่อแลกเสียงโหวต ก็กลายเป็นรอยด่างของรัฐบาล และทำให้สังคมมาเลเซียเริ่มไม่เชื่อมั่นว่า การเลือกตั้งระดับชาติที่กำลังจะมีขึ้นจะโปร่งใสและปราศจากการทุจริตจริงตามที่รัฐบาลกล่าวอ้างหรือไม่

ฝ่ายค้านและนักเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปการเลือกตั้งในมาเลเซียอ้างว่ามีการโกงรายชื่อผู้มีสิทธ์เลือกตั้งทั่วประเทศ และยกเอาการตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวนกรณีในรัฐซาบาห์มาเป็นหลักฐานว่ารัฐบาลพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งจริง

อัมพิกา ศรีเนวาสัน หัวหน้าเครือข่ายรณรงค์เพื่อการเลือกตั้งที่โปร่งใส “เบอร์ซิห์” ระบุในงานแถลงข่าววานนี้(22)ว่า “สิ่งที่เรากังวลคือรัฐบาลยังคงใช้กลยุทธ์ลักษณะนี้อยู่ เราต้องการให้พฤติกรรมเช่นนี้หมดไป”
อดีตนายกรัฐมนตรี มหาธีร์ โมฮาหมัด แห่งมาเลเซีย
ข่าวลือเรื่อง “โปรเจ็กต์ ไอซี” ได้รับการกล่าวขวัญมานานกว่า 30 ปี และทำให้คนส่วนใหญ่มองว่ารัฐซาบาห์เป็น “คลังเสียง” ที่แน่นอนของพรรค บีเอ็น ที่จะช่วยลดผลกระทบจากการพ่ายแพ้ในรัฐอื่นๆ โดยผู้อพยพที่ได้รับสัญชาติส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมจากอินโดนีเซียและภาคใต้ของฟิลิปปินส์

แม้กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรมาเลเซีย 29 ล้านคนจะเป็นชาวมาเลย์มุสลิม ทว่าพลเมืองส่วนใหญ่ในรัฐซาบาห์ยังเป็นชนพื้นเมืองที่นับถือศาสนาคริสต์

ชนพื้นเมืองเหล่านี้ตั้งข้อรังเกียจชาวต่างชาติ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นต้นเหตุให้อาชญากรรม, ยาเสพติด และการแข่งขันทางเศรษฐกิจสูงขึ้น และยังเข้ามาแย่งที่ทำกินในดินแดนอันเป็นบ้านเกิดของพวกเขาด้วย

นายกรัฐมนตรี นาจิบ อนุมัติให้ตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวนกรณีผู้อพยพในรัฐซาบาห์เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ซึ่ง อิบราฮิม ซุฟเฟียน ประธานบริษัทสำรวจความคิดเห็นอิสระ เมอร์เดกา เซ็นเตอร์ ชี้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด และสิ่งที่ถูกเปิดเผยอาจกลายเป็น “ระเบิด” ทำลายรัฐบาลเอง

“เรื่องนี้อาจทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในรัฐซาบาห์โกรธแค้นและไม่พอใจ เพราะเป็นการยืนยันสิ่งที่พวกเขากลัวมากที่สุด”

รัฐซาบาห์ซึ่งเต็มไปด้วยป่าเขาลำเขาไพรและมีขนาดพอๆกับไอร์แลนด์ มีผู้อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจากราว 600,000 คนในปี 1970 เป็นกว่า 3 ล้านคนในปัจจุบัน ซึ่งเร็วกว่าอัตราเฉลี่ยทั้งประเทศกว่าเท่าตัว

พรรคฝ่ายค้านมาเลเซียอ้างว่า พลเมืองราว 700,000 คนในรัฐซาบาห์อาจเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองที่ได้บัตรประจำตัวประชาชนโดยผิดกฎหมาย และจากประวัติก็พบว่า รัฐแห่งนี้เป็นฐานเสียงที่สำคัญของพรรค บีเอ็น มาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990

อดีตนายกฯ มหาธีร์ ซึ่งยังเป็นผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงการเมืองแดนเสือเหลือง ออกมาปฏิเสธข่าวเรื่อง “โปรเจ็กต์ ไอซี” แต่ในงานแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขายอมรับว่ามีการให้สัญชาติแก่คนต่างด้าวในรัฐซาบาห์จริง โดยเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น