เอเอฟพี - พิธีอาบน้ำล้างบาป “มหากุมภะเมลา” ซึ่งมีชาวฮินดูนับร้อยล้านคนจากทั่วโลกเดินทางมุ่งสู่เมืองอัลลาฮาบัดของอินเดียเพื่ออาบน้ำในแม่น้ำคงคา เป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้แสวงบุญเอง งานวิจัยชิ้นล่าสุดเผย
นักวิจัยในอังกฤษและอินเดีย ระบุว่า ผู้ศรัทธาในศาสนาฮินดูที่ยอมอดทนกับสภาพอากาศหนาวเย็น เสียงอึกทึก การกินอยู่หลับนอนที่ไม่สุขสบาย และความเสี่ยงต่อโรคภัยต่างๆ จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีขึ้น หลังประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
“แม้จะมีบางคนล้มป่วยหรือรู้สึกไม่สบาย แต่ส่วนใหญ่แล้ว พิธีกุมภะเมลาจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้แสวงบุญ” งานวิจัยซึ่งใช้ชื่อว่า “ความเข้าใจในประสบการณ์แสวงบุญ” (Understanding the Pilgrim Experience) ระบุ
เทศกาลกุมภะเมลาในเมืองอัลลาฮาบัดซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ 12 ปี เริ่มต้นขึ้นแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา(14) โดยทางการอินเดียระบุว่า เฉพาะวันแรกมีผู้แสวงบุญประกอบพิธีอาบน้ำล้างบาปในแม่น้ำคงคามากถึง 8 ล้านคน
เมืองอื่นๆในอินเดียก็มีการจัดพิธีอาบน้ำล้างบาปขนาดย่อมๆขึ้นเป็นประจำทุกปี
นักวิทยาศาสตร์สังคมจากมหาวิทยาลัย 4 แห่งในอังกฤษ และอีก 5 แห่งในอินเดีย ได้ข้อสรุปตรงกันว่า การได้อดทนต่อความยากลำบากต่างๆและทำกิจกรรมร่วมกันเป็นหมู่คณะ มีอิทธิพลต่อจิตใจของผู้แสวงบุญเหนือกว่าความลำบากทางด้านร่างกาย
“การได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มผู้แสวงบุญชาวฮินดูที่มีความใกล้ชิดและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะช่วยให้คนเราได้ตระหนักถึงการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมากยิ่งขึ้น” งานวิจัย ระบุ
ผลการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารด้านวิทยาศาสตร์ Plos One สรุปจากการสำรวจความคิดเห็นผู้แสวงบุญ 416 คน และผู้ที่ไม่ได้ไปร่วมพิธีกุมภะเมลาอีก 127 คน ในช่วงปี 2010 และ 2011