เอเอฟพี - ผู้แสวงบุญชาวฮินดูนับล้านคนแห่แหนไปยังริมฝั่งแม่น้ำคงคาในเมืองอัลลาฮาบัด รัฐอุตตรประเทศของอินเดีย เพื่อร่วมพิธีอาบน้ำ “มหากุมภะเมลา” (Maha Kumbh Mela) ซึ่งถือเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่และมีผู้คนเข้าร่วมมากที่สุดในโลก
ตลอด 55 วันข้างหน้า คาดว่าจะมีชาวฮินดูนับร้อยล้านคนเดินทางไปประกอบพิธีมหากุมภะเมลา หรือพิธีอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งชาวฮินดูเชื่อว่าจะช่วยชำระล้างบาปและเสริมสิริมงคลให้แก่ชีวิต
นักบวชฮินดูซึ่งถือดาบและตรีศูลเป็นผู้แสวงบุญกลุ่มแรกที่วิ่งลงไปชำระล้างร่างกายในสายน้ำอันเย็บเฉียบของแม่น้ำคงคาเมื่อช่วงรุ่งสางของวันนี้ (14) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของเทศกาลอาบน้ำล้างบาป
“ผมตื่นเต้นจริงๆ พอก้าวลงไปสัมผัสแม่น้ำคงคา ผมรู้สึกมีความสุขมาก มันเป็นสิ่งที่ยากจะอธิบายได้” มอคชานานด์ นักบวชเครายาวผู้สวมใส่เพียงกางเกงชั้นในย้อมฝาด เผยหลังก้าวขึ้นจากน้ำ
สำหรับชาวอินเดียทั่วไป มหากุมภะเมลา ถือเป็นเทศกาลสำคัญที่ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงจะได้สวดมนต์ขอพรและเดินทางไปแสวงบุญร่วมกัน โดยต่างเต็มใจเผชิญความยากลำบากไม่ว่าจะเป็นการเบียดเสียดกับฝูงชน เสียงตะคอกของตำรวจนับพันนายคอยที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในพิธี รวมถึงสภาพอากาศที่หนาวจัดในเดือนมกราคม เพื่อให้ได้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีชำระล้างบาปในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์
มหากุมภะเมลา มีที่มาจากความเชื่อที่ว่า ขณะที่เทวดาและอสูรแย่งชิงน้ำอมฤตซึ่งได้จากการกวนเกษียรสมุทรนั้น น้ำอมฤตได้กระเด็นตกลงมายังสถานที่ 4 แห่งบนโลกมนุษย์ ได้แก่ อัลลาฮาบัด นาสิก อุชเชนี และหริทวาร
พิธีอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ในเมืองอัลลาฮาบัด รัฐอุตตรประเทศ จะจัดขึ้นเป็นประจำทุก 12 ปี ขณะที่เมืองอื่นๆ ในอินเดียก็มีการจัดพิธีอาบน้ำล้างบาปทุก 3 ปี