อินเตอร์เนชันแนลบิสเนสไทม์ส - ปลาตายนับหมื่นตัวถูกคลื่นซัดเกยตื้นชายฝั่งเกาะพาวลีย์ มลรัฐเซาท์แคโรไลนา สหรัฐฯ ช่วงต้นสัปดาห์ เหตุปลาเกยตื้นหมู่ครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์ ทำเอานักวิทยาศาสตร์ฉงนและเร่งหาคำตอบปรากฏการณ์ตายหมู่ครั้งนี้
ปลาขนาดเล็กหลายหมื่นตัว ถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกยตื้นชายฝั่งเกาะพาวลีย์ โดยตำรวจยืนยันถึงการตายหมู่ดังกล่าวและแจ้งเรื่องไปยังกรมทรัพยากรธรรมชาติ
เบื้องต้นมีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับทฤษฎีเทอร์มอลช็อก หรือการที่อุณหภูมิของน้ำลดลงอย่างทันทีทันใด อย่างไรก็ตาม ด้วยที่กรมทรัพยากรธรรมชาติเซาท์แคโรไลนา ระบุว่าบริเวณชายฝั่งแถบนี้ไม่ได้ประสบกับภาวะอากาศหนาวเหน็บยามค่ำคืน ข้อสันนิษฐานนี้จึงไม่น่าจะใช่คำตอบที่ถูกต้องนัก
อีกทฤษฎีหนึ่งก็คือ อาจเกิดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของสาหร่ายพิษ (Algae Bloom) อันเป็นผลให้น้ำทะเลเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ กระนั้นจากผลตรวจน้ำที่ออกมาในวันพุธ(16) ไม่พบสัญญาณของสาหร่ายหรือพิษอื่นๆ ในตัวของพวกมัน
ทั้งนี้ นักวิทยาศาตร์บางส่วนเชื่อว่าการตายหมู่ของปลาเป็นเหตุการณ์ทางธรรมชาติ สืบเนื่องจากค่าออกซิเจนในน้ำดำดิ่งแตะระดับเกือบศูนย์เลยทีเดียว “สิ่งที่เกิดขึ้นเรียกว่าภาวะพร่องออกซิเจน เนื่องจากระดับออกซิเจนในน้ำลดต่ำสู่ระดับที่ปลาไม่สามารถยังชีพอยู่ได้” สตีฟ บ็อป กล่าว