เอเจนซีส์ - อเมริการับบท“กาวใจ” ส่งเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการทูตและความมั่นคงไปกล่อมญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ละวางความบาดหมาง และหันมาช่วยกันจัดการโสมแดงเจ้าปัญหา รวมถึงรับมือพญามังกรที่แสดงท่าทีแข็งกร้าวยิ่งขึ้นทุกขณะ ขณะเดียวกัน เครื่องบินขับไล่ของสหรัฐฯและแดนอาทิตย์อุทัยก็ซ้อมรบร่วมกันในวันอังคาร(15)
เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นแจ้งต่อเอเอฟพีว่า การซ้อมรบร่วมกันระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่นคราวนี้กินเวลา 5 วัน โดยฝ่ายอเมริกันส่งเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟเอ-18 จำนวน 6 เครื่อง พร้อมกำลังบุคลากรราว 90 คนเข้าร่วม ส่วนแดนอาทิตย์อุทัยส่งเครื่องบินขับไล่ เอฟ-4 จำนวน 4 ลำ และกำลังพลซึ่งไม่มีการระบุตัวเลข
การซ้อมรบคราวนี้มีขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณนอกชายฝั่งของเกาะชิโกกุ ซึ่งเป็นเกาะใหญ่อันดับ 4 ของหมู่เกาะญี่ปุ่น
ก่อนการฝึกซ้อมทางทหารคราวนี้ไม่กี่วัน โตเกียวรายงานว่าในวันพฤหัสบดีที่แล้ว(10) เครื่องบินขับไล่ของฝ่ายตนหลายลำได้เข้าขับไล่เครื่องบินทหารของฝ่ายจีน บริเวณใกล้ๆ กับน่านฟ้าของหมู่เกาะเซงกากุในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งญี่ปุ่นเป็นผู้ควบคุมอยู่ในเวลานี้ แต่จีนก็ได้อ้างกรรมสิทธิด้วยและเรียกชื่อว่าหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์
เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมของจีนได้แถลงในเวลาต่อมาว่า เครื่องบินขับไล่รุ่น เจ-10 จำนวน 2 ลำของฝ่ายตน ได้บินไปยังบริเวณดังกล่าว เพื่อตรวจสอบติดตาม เอฟ-15 จำนวน 2 ลำของญี่ปุ่น ซึ่งได้ตามเครื่องบินรุ่น วาย-8 ของจีนลำหนึ่ง ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวซินหวาของทางการแดนมังกร
ก่อนหน้านั้นในวันอังคาร (8) เครื่องบินรุ่น วาย-12 ของทางการจีนลำหนึ่ง ก็ได้บินเข้าเฉียดใกล้ๆ น่านฟ้าของหมู่เกาะเซงกากุ แม้ยังไม่ได้ล่วงล้ำเข้ามา แต่ก็ทำให้ญี่ปุ่นส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นไปผลักดัน กระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นรายงานเอาไว้เช่นนี้
ไม่เพียงจัดการซ้อมรบร่วมกับสหรัฐฯ ในวันอาทิตย์(13) กองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดิน (กองทัพบก) ของญี่ปุ่น ยังได้จัดการซ้อมรบที่มีการสมมุติสถานการณ์ให้เป็นการปฏิบัติการยึดคืน “เกาะห่างไกลแห่งหนึ่งที่ถูกกองทหารข้าศึกรุกราน” เป็นครั้งแรกอีกด้วย โดยที่การซ้อมรบซึ่งกระทำกันที่ค่ายทหารนาราชิโนะ ในจังหวัดชิบะ ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงโตเกียวคราวนี้ ใช้เวลาประมาณ 40 นาที และมีทหารเข้าร่วม 300 คน พร้อมด้วยเครื่องบินรบ 20 ลำ ยานยนต์ทหารกว่า 30 คัน อีกทั้งมีทหารราว 80 คนจากกองพลน้อยส่งกำลังทางอากาศที่ 1 โรยตัวลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ เป็นการสาธิตให้เห็นการเคลื่อนพลเพื่อตอบโต้ขับไล่ข้าศึกที่รุกรานเข้าสู่เกาะที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล
**คณะผู้แทนอาวุโสสหรัฐฯกล่อมโซล-โตเกียว**
ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า คณะผู้แทนระดับสูงจากทำเนียบขาว เพนตากอน และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกเดินทางมุ่งสู่เอเชียในวันจันทร์ (14) การเดินทางคราวนี้เกิดขึ้นเพียงไม่นานหลังจากพรรคการเมืองที่มีแนวทางชาตินิยมในญี่ปุ่นชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลสดๆ ร้อนๆ เมื่อเดือนที่แล้ว และก่อนที่ประธานาธิบดีใหม่แดนโสมขาวจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในเดือนหน้า
วอชิงตันหวังว่า โซลและโตเกียวจะละวางความบาดหมางทางประวัติศาสตร์และทางด้านดินแดนสืบเนื่องจากการที่ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีระหว่างปี 1910-1945 นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่อเมริกันยังต้องการให้ความมั่นใจกับญี่ปุ่น ที่ต้องเผชิญการท้าทายจากจีนกรณีพิพาทอธิปไตยเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออกแทบไม่เว้นแต่ละวัน
กรณีพิพาทระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นกับจีนเหล่านี้ อันที่จริงเรื้อรังมายาวนาน แต่ได้กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของโตเกียวกับโซลและกับปักกิ่งเครียดขมึง อีกทั้งกระทบต่อนโยบายสำคัญของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งมุ่งปรับสมดุลของกองกำลังความมั่นคงต่างๆ ในเอเชียตะวันออกกันใหม่ โดยที่จุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งของเรื่องนี้คือการรับมือการก้าวผงาดขึ้นมาของจีน
ในการแถลงข่าวสัปดาห์ที่แล้ว วิกตอเรีย นูแลนด์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า วอชิงตันต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ และทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมมือกันและแก้ไขข้อขัดแย้งต่างๆ ด้วยการเจรจา
การปีนเกลียวระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 และ 4 ของเอเชีย ยังทำให้วอชิงตันหนักใจ ในห้วงเวลาที่เกาหลีเหนือจอมพยศก็เพิ่งทดสอบยิงจรวดพิสัยไกลและกำลังเล็งทดสอบนิวเคลียร์รอบสามเร็วๆ นี้
ในการปฏิบัติการครั้งท้ายๆ ก่อนที่โอบามาจะแต่งตั้งทีมงานความมั่นคงแห่งชาติชุดใหม่สำหรับวาระที่สองแห่งการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสซึ่งประกอบด้วย เคิร์ต แคมป์เบลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ, มาร์ก ลิปเพิร์ต ผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหม และแดเนียล รัสเซล ผู้อำนวยการอาวุโสด้านกิจการเอเชียของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เดินทางจากกรุงวอชิงตันมุ่งสู่เอเชีย โดยที่มีกำหนดพบหารือกับเจ้าหน้าที่ในโซลและโตเกียว
อันที่จริงพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯมีการหารือเป็นประจำกับเจ้าหน้าที่ของเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งต่างก็เป็นพันธมิตรใกล้ชิดของอเมริกันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 อีกทั้งสองประเทศรวมกันก็เป็นเจ้าบ้านรับรองทหารสหรัฐฯราว 80,000 คนในเอเชีย ทว่าในสถานการณ์ซึ่งกระแสชาตินิยมที่ก่อให้เกิดความบาดหมางกันได้ปะทุระอุขึ้นมาในประเทศทั้งสองในปีที่แล้ว ทำให้การเดินทางของคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสอเมริกันเที่ยวนี้ ไม่สามารถที่จะระบุว่าเป็นกิจวัตรตามปกติได้ และกำลังได้รับการจับตาติดตามอย่างใกล้ชิด