xs
xsm
sm
md
lg

“ลองสเตย์” เอเชียได้ผลเกินคาด ดึงดูดผู้สูงวัยตะวันตกแต่โดนใจญี่ปุ่น-จีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชิเกรุ ทานิดะ (กลาง) ชาวญี่ปุ่นวัย 65 ปี พำนักอาศัยในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซียมาตั้งแต่ปี 2006 แล้ว เนื่องจากติดใจแสงแดสดใสทั้งปีและค่าครองชีพที่ต่ำกว่าในญี่ปุ่นมาก เวลานี้เขาใช้เวลาบางส่วนช่วยสอนคาราเต้ให้เด็กๆ ชาวมาเลเซีย
เอเอฟพี - วิกฤตนิวเคลียร์แดนอาทิตย์อุทัยและเศรษฐกิจโตไวของจีน ส่งผลให้ลูกค้าหลักของโครงการ “ลองสเตย์” หรือโปรแกรมดึงดูดผู้สูงวัยจากต่างชาติเข้ามาพำนักระยะยาวของทั้งมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย แปรเปลี่ยนเป็นคนเอเชียด้วยกัน จากกลุ่มเป้าหมายเดิมคือผู้ปลดเกษียณชาวตะวันตก

เช่นเดียวกับแม่อีกหลายคนในแดนซากุระ ริสึโกะ คาวาซากิ กังวลกับความเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัยที่ยังตกค้างอยู่ในญี่ปุ่นหลังมหันตภัยแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์ และวิกฤตนิวเคลียร์

ด้วยเหตุนี้ เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เธอจึงหอบหิ้วลูกชายสองคนย้ายไปอยู่ปีนังภายใต้โครงการพำนักระยะยาวของรัฐบาลมาเลเซียที่มุ่งหมายดึงดูดชาวต่างชาติและเงินตราต่างประเทศ

“ฉันไม่นึกอยากกลับญี่ปุ่นอีก ชีวิตที่ปีนังสะดวกสบายดี” คาวาซากิวัย 43 ปี บอก

การเดินทางสู่มาเลเซียเป็นก้าวย่างสำคัญสำหรับคาวาซากิที่พูดได้แต่ภาษาญี่ปุ่น เธอพอใจที่ลูกชายวัย 9 และ 3 ขวบได้เรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนในปีนัง แต่เสน่ห์สำคัญที่สุดของมาเลเซียในสายตาเธอคือ ความปลอดภัยจากแผ่นดินไหวและไต้ฝุ่นที่ก่อกวนเอเชียตะวันออกเป็นประจำทุกปี

ด้วยสภาพอากาศอบอุ่น การเมืองมีเสถียรภาพ และเศรษฐกิจสมัยใหม่ มาเลเซียสามารถดึงดูดชาวต่างชาติ 19,488 คนเข้าไปตั้งรกรากนับจากริเริ่มโปรแกรม “มาเลเซีย มาย เซ็กคันด์ โฮม" (MM2H) เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

เดิมที MM2H และโครงการคล้ายกันในไทยและฟิลิปปินส์มีเป้าหมายที่ผู้ปลดเกษียณชาวตะวันตก ด้วยหวังว่าคนเหล่านั้นจะเข้าไปตั้งรกรากและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่ตอนนี้ เจ้าหน้าที่โครงการบอกว่า ผู้ยื่นใบสมัครหลักกลายเป็นชาวเอเชีย นำโดยคนญี่ปุ่นหลังเหตุแผ่นดินไหว และคนจีนที่ฐานะดีขึ้น

ตลอดปี 2011 มีผู้สมัครที่ได้รับอนุมัติจาก MM2H ทั้งสิ้น 2,387 คน สำหรับปี 2012 ทางการเสือเหลืองตั้งเป้าไว้ที่ 3,000 คน โดยมีมาตรการจูงใจ อาทิ วีซ่าระยะ 10 ปีแบบเข้า-ออกได้หลายครั้ง การยกเว้นภาษีสำหรับการโอนเงินกองทุนบำนาญนอกประเทศ สิทธิในการทำธุรกิจ การซื้อรถยนต์ที่ผลิตในท้องถิ่นโดยไม่เสียภาษี ฯลฯ

ขณะเดียวกัน ผู้สมัครต้องฝากเงินไว้ในธนาคารท้องถิ่นในจำนวนเงินตามที่กำหนด โดยที่ MM2H นั้นกำหนดไว้ที่ 50,000 ดอลลาร์

สำหรับสองสามี-ภรรยาชาวอังกฤษ เคธและเอเดรียนน์ แสงแดดแจ่มใสคือปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจว่า จะกลับไปปักหลักบนเกาะสิงโตคำรามหลังจากที่เคธเกษียณในปี 2004 ภายหลังรับราชการตำรวจที่ฮ่องกงมาถึง 35 ปีหรือไม่

“อังกฤษอากาศทั้งมัวซัวทั้งเย็น แล้วฉันก็ไม่ชอบภูเก็ตที่มีบาร์ละลานตาไปหมด” เอเดรียนน์เล่าขณะจิบชาในร้านอาหารอินเดียในจอร์จทาวน์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของปีนังตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นอาณานิคมอังกฤษ

ในที่สุดทั้งคู่ตกลงใจเลือกปีนังเพราะมีมาตรฐานการครองชีพสูง ไม่มีความวุ่นวายทางการเมืองเหมือนในประเทศเพื่อนบ้าน ระบบรักษาพยาบาลมีคุณภาพ และพูดภาษาอังกฤษแพร่หลาย

ภายใต้ MM2H ผู้ปลดเกษียณต่างชาติยังสามารถครอบครองอสังหาริมทรัพย์และที่ดินโดยมีสิทธิสมบูรณ์ แม้มีข้อจำกัดบางอย่างก็ตาม

อย่างไรก็ตาม แท้ที่จริงแล้ว คนเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนและญี่ปุ่น ต่างหาก เป็นกระแสหลักที่ขับเคลื่อน “ตลาดสีดอกเลา” หรือโอกาสทางธุรกิจที่เชื่อมโยงกับผู้สูงวัย ทั้งนี้จากการเปิดเผยของเจนิซ เฉีย กรรมการผู้จัดการ เอจจิ้ง เอเชีย บริษัทที่ปรึกษาในสิงคโปร์

เฉียเสริมว่า ปี 2050 เอเชียจะมีพลเมืองอาวุโสคิดเป็นประมาณ 63% ของทั่วโลก และคนเหล่านี้จะมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้อายุขัยยาวนานขึ้น

สิฐี นานี ชารานี ผู้อำนวยการ MM2H ขานรับว่า ผู้สมัครที่มีจำนวนมากที่สุดในขณะนี้คือคนจีน รองลงมาคือญี่ปุ่น บังกลาเทศ สหราชอาณาจักร และอิหร่าน

ทางด้านสำนักงานการเกษียณอายุของฟิลิปปินส์ ก็ระบุอัตราส่วนใกล้เคียงกันสำหรับผู้ที่อยู่ในโครงการจูงใจเพื่อใช้ชีวิตในวัยปลดเกษียณในฟิลิปปินส์เกือบ 21,000 คนในขณะนี้ ที่นำโดยจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น

อาจจะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างในกรณีโครงการพำนักระยะยาวของไทยที่อนุมัติผู้สมัคร 35,488 คนในปี 2011 เพราะ คนอังกฤษ อเมริกัน และเยอรมนียังคงเป็นลูกค้าอันดับต้นๆ

ย้อนกลับไปที่มาเลเซีย ปี 2012 ผู้สมัครที่มีจำนวนมากที่สุดคือญี่ปุ่น เฉพาะเดือนสิงหาคมมี 558 คน เทียบกับแค่ 195 คนตลอดปี 2010

ชิเกรุ ทานิดะ วัย 65 ปี ปักหลักอยู่ในกัวลาลัมเปอร์ตั้งแต่ปี 2006 เพราะถูกใจที่มีแดดสดใสตลอดทั้งปี แถมค่าครองชีพยังต่ำกว่าในญี่ปุ่นมาก จึงเอาชนะตัวเลือกในใจทั้งไทย สเปน และฟิลิปปินส์ขาดลอย

ทางด้าน เบิร์นด์ เฟรย์แท็ก ชาวเยอรมันวัย 70 ปี และคิมมี ภรรยาชาวอเมริกัน บ่นอุบเรื่องการจราจรติดขัดในเมืองต่างๆ ของมาเลเซียอย่างจอร์จทาวน์ หรือ กัวลาลัมเปอร์ พื้นที่ที่มีการพัฒนาโดยไม่ได้วางแผนมากที่สุดในประเทศแห่งนี้

กระนั้น เฟรย์แท็ก กล่าวในขณะมองดูทะเลอันดามันสีคราม จากอพาร์ตเมนต์อันกว้างขวางในปีนังซึ่งบัดนี้กลายเป็นบ้านใหม่ของเขา ว่า “ผมไม่ไปไหนอีกแล้ว ผมสั่งลูกๆ ไว้ว่า ถ้าตาย ให้โปรยเถ้ากระดูกผมในทะเลปีนังนี่"
กำลังโหลดความคิดเห็น