xs
xsm
sm
md
lg

อาเซียนวอนอินเดียช่วยแก้ข้อพิพาททะเลจีนใต้กับปักกิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทัพเรือของอินเดีย
เอเอฟพี - เหล่าชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อวันพฤหัสบดี(20) ร้องขอ อินเดีย เข้าแทรกแซงช่วยเหลือคลี่คลายข้อพิาทด้านอาณาเขตในทะเลจีนใต้กับจีน ระบุเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องค้ำยันสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคแห่งนี้

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งมีสมาชิกอยู่ 10 ประเทศ เรียกร้องอินเดีย แสดงจุดยืนต่อภูมิภาคเด็ดเดี่ยวกว่านี้ หลังก่อนหน้านี้ นิวเดลี เคยประกาศสนับสนุนประสานงานความร่วมมือต่างๆทั้งด้านการค้าและความมั่นคงทางทะเลกับชาติต่างๆในอาเซียน

นายเหวียนเติ๋นยวุ๋ง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เรียกร้องนิวเดลี เข้าแทรกแซงโดยตรงต่อข้อพิพาทด้านอาณาเขตในทะเลจีนใต้ ขณะที่ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่า ก็ชี้ว่าบทบาทของอินเดียมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับรับประกันสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย ยืนยันไม่มีความจำเป็นที่รปะเทศของเขาต้องเข้าแทรกแซงข้อขัดแย้งดังกล่าว

จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่เกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ ในนั้นรวมถึงน่านน้ำต่างๆที่อยู่ใกล้ชายฝั่งของชาติเพื่อนบ้าน โดยพื้นที่เหล่านั้นรวมไปถึงเส้นทางเดินทะเลหลักและรวมบริเวณซึ่งเชื่อว่าเป็นแหล่งทรัพยากรแร่และน้ำมัน คำกล่าวอ้างของปักกิ่งได้รับการโต้แย้งจากฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย ไต้หวันและเวียดนาม ที่ต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์บางบริเวณหรือทั้งหมดในพื้นที่เดียวกัน

"บางครั้งการทำอะไรบางอย่างก็คือการไม่ทำอะไรกับมัน" ซัลมาน คูร์ชิด รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียกล่าว พร้อมบอกว่าประเด็นด้านเขตแดนจำเป็นต้องคลี่คลายกันเองระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอินเดีย ที่ยังคงบาดหมางกันในด้านพรมแดน บ่อยครั้งก็เสียดแทงและมึนตึงจากความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน มรดกตกทอดของสงครามข้ามพรมแดนช่วงสั้นๆในปี 1962 อย่างไรก็ตามเวลานี้พวกเขาพยายามขยายความสัมพันธ์ทางการค้าแม้ความตึงเครียดทางการเมืองยังคงมีอยู่

การค้าระหว่างจีนกับอาเซียน มีมูลค่ามากกว่าของอินเดียอยู่มหาศาล แต่ 20 ปีหลังจากดำเนินนโยบาย "มองตะวันออก" การค้าของนิวเดลีกับอาเซียนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อปีที่แล้วการค้าระหว่างอินเดียกับอาเซียน มีมูลค่าราวๆ 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปี 2008 ซึ่งตอนนั้นมีมูลค่าแค่ราวๆ 47,0000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น