(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Ghosts of ‘62 can't rest in peace
By Brendan O'Reilly
30/10/2012
การต่อสู้นองเลือดในสนามรบที่อยู่สูงที่สุดในโลกได้ผ่านพ้นไปครึ่งศตวรรษแล้ว สงครามช่วงสั้นๆ ระหว่างจีนกับอินเดียคราวนั้นยังคงถูกจดจำเอาไว้ด้วยความขมขื่นกันอยู่ในอินเดีย ขณะที่สาธารณชนชาวจีนส่วนใหญ่ลืมเลือนกันไปหมดแล้ว จากการที่พื้นที่ชายแดนซึ่งสู้รบแย่งชิงกันคราวนั้นโดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นกรณีพิพาทกันอยู่จนถึงเวลานี้ และเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 รายนี้ก็ติดล็อกอยู่ในภาวะที่ต่างคนต่างสามารถสร้างความพินาศย่อยยับไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้น พื้นฐานอันอุดมสมบูรณ์พรักพร้อมสำหรับการปรับปรุงยกระดับสายสัมพันธ์ของประเทศทั้ง 2 ทั้งในทางเศรษฐกิจ, การเมือง, และวัฒนธรรม จึงยังคงถูกปล่อยทิ้งให้สูญเปล่า
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *
เมื่อ 5 ทศวรรษที่แล้ว กองทหารอินเดียและกองทหารจีนได้สาดกระสุนเข้าใส่กันและหลั่งเลือดอาบทาบนพื้นที่สมรภูมิซึ่งอยู่สูงที่สุดในโลก วาระครบรอบ 50 ปีของสงครามจีน-อินเดียคราวนั้น ไม่ค่อยได้รับความสนใจติดตามรายงานจากสื่อมวลชนระหว่างประเทศเท่าใดนัก เนื่องจากถูกบดบังจากวาระครบรอบ 50 ปีของวิกฤตการณ์ขีปนาวุธในคิวบา อย่างไรก็ตาม การสู้รบตรงชายแดนระหว่างจีนกับอินเดียเป็นระยะเวลาสั้นๆ ทว่าเต็มไปด้วยความขมขื่นครั้งนั้น ได้เกิดผลสืบเนื่องในเชิงภูมิรัฐศาสตร์อย่างใหญ่โตมโหฬาร ไม่เพียงเฉพาะสำหรับมหาอำนาจคู่สงครามทั้งสองเท่านั้น หากแต่สำหรับโลกทั้งโลกอีกด้วย
ความสัมพันธ์อันทรงความสำคัญอย่างยิ่งยวดระหว่างชาติที่มีประชากรมากที่สุดในโลก 2 รายนี้ ปัจจุบันยังคงถูกหลอกหลอนจากภูตผีของประวัติศาสตร์ และจากเงาพรายของสิ่งที่มีศักยภาพจะกลายเป็นความขัดแย้งขึ้นมาในอนาคต สภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ยังคงติดแน่นอยู่ในแบบแผนแห่งการเผชิญหน้ากัน แม้กระทั่งในขณะที่สายสัมพันธ์ทั้งทางเศรษฐกิจ, การเมือง, และวัฒนธรรมระหว่างจีนกับอินเดียกำลังกระเตื้องดีขึ้นเรื่อยๆ
เงื่อนไขต่างๆ ทางภูมิรัฐศาสตร์ระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นตัวนำไปสู่สงครามจีน-อินเดีย โดยส่วนใหญ่แล้วยังคงไม่ได้รับการแก้ไขคลี่คลาย จีนกับอินเดียยังคงพิพาทกันเกี่ยวกับพรมแดนร่วมของพวกเขา ซึ่งได้รับการปักปันแบ่งเขต (ภายใต้การข่มขู่บีบบังคับ) โดยอังกฤษและฝ่ายทิเบตเมื่อปี 1914 รัฐบาลจีนนั้นปฏิเสธไม่ยอมรับแนวพรมแดนนี้เนื่องจากเห็นว่าเป็นมรดกตกทอดของลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก และยังคงอ้างกรรมสิทธิ์เหนือรัฐอรุณาจัลประเทศ (Arunachal Pradesh) ของอินเดีย ขณะที่อินเดียก็ประกาศว่าตนเป็นเจ้าของดินแดนอัคไซ ชิน (Aksai Chin) ซึ่งฝ่ายจีนควบคุมอยู่ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ อินเดียยังคงให้ที่พักพิงหลบภัยและความสนับสนุนทางการเมืองแก่ ทะไลลามะ ผู้นำทางด้านจิตวิญญาณของทิเบต รัฐบาลจีนมองนโยบายเช่นนี้ว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของตน
สงครามจีน-อินเดียเมื่อ 50 ปีก่อน ยังคงได้รับการจดจำฝังแน่นด้วยความขมขื่นในอินเดีย การที่จีนประสบชัยชนะทางยุทธวิธีอย่างรวดเร็วและถัดจากนั้นก็ลงมือทำการหยุดยิงเพียงฝ่ายเดียวอย่างชนิดปราศจากความบีบคั้นจากกองทัพแดนภารตะ เป็นความอับอายที่ติดตรึงอยู่ในความทรงจำของชนชั้นที่มีบทบาททางการเมืองในอินเดีย เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีของสงครามคราวนั้นเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สื่อมวลชนอินเดียได้เสนอเรื่องราวรายละเอียด และบทบรรณาธิการเนื้อหาเผ็ดร้อนจำนวนมาก พูดถึงมรดกสิ่งตกทอดของศึกคราวนั้น
ในเดือนตุลาคมนั้นเอง รัฐมนตรีกลาโหม เอ เค แอนโทนี (A K Antony) ของอินเดีย ได้เดินทางไปเยือนชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณดังกล่าว และได้กล่าวปราศรัยพูดถึงทั้งความทรงจำเกี่ยวกับสงครามในอดีต และสถานการณ์ทางทหารในปัจจุบัน โดยระบุว่า “โครงสร้างพื้นฐานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังไม่ได้ดีถึงระดับที่จะทำให้พวกเราพออกพอใจ แต่มันก็ได้รับการปรับปรุงยกระดับขึ้นมามากทีเดียวเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต ... โครงสร้างพื้นฐาน, ทรัพย์สิน, และกำลังพล, ทุกสิ่งทุกอย่างต่างก็ได้รับการปรับปรุงยกระดับขึ้นมา อินเดียในปี 2012 ไม่ใช่อินเดียในยุคนั้นแล้ว เวลานี้เรามีความสามารถที่จะพิทักษ์ปกป้องประเทศชาติของเราทุกๆ ตารางนิ้ว” [1]
ช่วงเวลาเดียวกันนี้ ในประเทศจีนที่เป็นคู่ศึกอีกฝ่ายหนึ่ง สงครามคราวนั้นกลับถูกลืมเลือนไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว ผลการสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดยหนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ (Global Times) สื่อในเครือของเหรินหมินรึเป้า (พีเพิลเดลี่) กระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ปรากฏว่ามีชาวจีนวัยผู้ใหญ่ที่เป็นชาวเมืองซึ่งเข้าร่วมการสำรวจคราวนี้เพียง 15% เท่านั้นที่รู้เรื่องเกี่ยวกับศึกระหว่างจีนกับอินเดียเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว [2] หม่า ลี่ (Ma Li) แห่งสถาบันเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัยของประเทศจีน (China Institutes of Contemporary International Relations) เสนอคำอธิบายเกี่ยวกับช่องว่างทางด้านความทรงจำที่ห่างกันมากอย่างน่าประหลาดใจยิ่งเช่นนี้ เอาไว้ว่า “เปรียบเทียบกับชาวอินเดียผู้ซึ่งมีความประทับใจฝังแน่นลึกล้ำเกี่ยวกับสงครามคราวนั้นเพราะพวกเขาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้แล้ว ชาวจีนกลับแทบไม่มีสักกี่คนเลยที่รู้เรื่องเกี่ยวกับศึกที่เกิดขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อน” [3]
ยังน่าจะมีคำอธิบายอย่างอื่นๆ เพิ่มเติมอีก นอกเหนือจากการมีฐานะเป็นฝ่ายชนะ ที่เป็นเหตุผลทำให้ฝ่ายจีนไม่ค่อยได้จดจำสงครามคราวนั้น เป็นต้นว่า การชนะศึกที่เป็นการสู้รบกับชาติเอเชียอีกชาติหนึ่งซึ่งอันที่จริงก็เป็นเหยื่อของลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกมาด้วยกัน ย่อมเข้ากันไม่ได้ดีนักกับภาพลักษณ์ของตนเองซึ่งเป็นที่พึงปรารถนาของจีน, นอกจากนั้น ประชาชนจีนในปัจจุบันยังกำลังเน้นหนักให้ความสนใจกับปัญหาภายในประเทศและภาวะทางเศรษฐกิจมากกว่า, และประการสุดท้าย จิตสำนึกร่วมกันของชาวจีนยังคงถูกครอบครองฝังแน่นด้วยความทรงจำที่ยังคงมีชีวิตเต้นเร่าๆ ของสงครามต่อต้านญี่ปุ่น
**ภาวะแวดล้อมทางยุทธศาสตร์**
การเผชิญหน้ากันทางทหารที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ระหว่างอินเดียกับจีน ตลอดจนความเป็นปรปักษ์กันโดยองค์รวมระหว่างเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ 2 รายนี้ มีศูนย์กลางอยู่ที่ความวิตกกังวลในเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ทั้งคู่ต่างก็มีความกังวลห่วงใยคล้ายๆ กันอย่างน่าประหลาดใจทีเดียว สองประเทศต่างรู้สึกว่าตนเองถูกแวดล้อมไปด้วยพวกคู่แข่งขันที่เป็นศัตรู หรือเป็นคู่แข่งซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นศัตรู ถ้าเรามองดูแผนที่แม้เพียงคร่าวๆ ก็คงพอจะเข้าใจได้แล้วว่าทำไมสภาพทางภูมิศาสตร์ของอินเดียจึงทำให้ประเทศนี้มีความรู้สึกหวั่นไหวหวาดผวาเป็นพิเศษในเรื่องการถูกปิดล้อม กล่าวคือ ทางด้านตะวันตก ประเทศที่อยู่ติดกันคือปากีสถาน ซึ่งเป็นปรปักษ์ที่เดิมเป็นพี่น้องร่วมชาติกันมา และอินเดียได้เคยทำสงครามสู้รบด้วยมาแล้ว 3 ครั้ง ถึงแม้ปัจจุบันบริเวณพื้นที่พรมแดนระหว่างสองประเทศนี้อยู่ในภาวะที่เงียบสงบลงมาแล้ว แต่ทั้งอินเดียและปากีสถานก็ยังคงแข่งขันช่วงชิงกันเข้าควบคุมเหนือแคว้นแคชเมียร์ และประจันหน้ากันอย่างไม่มีการลดราวาศอกด้วยการขยายและสร้างอาวุธรุ่นใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้าสู่คลังแสงนิวเคลียร์ของแต่ละฝ่ายไม่ขาดสาย กลับมาที่แผนที่ของเรา ทางตอนเหนือของอินเดีย คือ จีน ประเทศที่กำลังมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นผู้ชนะในสงครามที่พวกเขารบกันอยู่ช่วงสั้นๆ เมื่อ 50 ปีก่อน ไม่เพียงเท่านั้น เรื่องที่ย่ำแย่ที่สุดก็คือ จีนกับปากีสถานได้กลายเป็นพันธมิตรกันอย่างเหนียวแน่นตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมา
มองจากทางฝ่ายแดนมังกรบ้าง จีนก็มีความรู้สึกว่ากำลังถูกบีบวงกระชับพื้นที่ในทำนองเดียวกันกับความหวั่นไหวของอินเดีย อเมริกาที่ปรับเปลี่ยนใช้ยุทธศาสตร์หันกลับมาเน้นหนักให้ความสำคัญกับเอเชีย ทำท่าจะจับมือกับทั้งญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์, และเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันต่างก็มีกรณีพิพาททางดินแดนอยู่กับแดนมังกร นี่แหละคือแรงกดดันบีบคั้นที่อยู่ทางปีกตะวันออกของจีน ทางด้านอื่นๆ เล่า ถึงแม้ความสัมพันธ์ในปัจจุบันระหว่างแดนมังกรกับรัสเซีย ยักษ์ใหญ่ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือ ถือได้ว่าอยู่ในสภาพที่เป็นมิตรต่อกันเป็นอย่างดี แต่ถ้าหากใช้ทัศนะมุมมองเชิงประวัติศาสตร์แล้ว นี่ย่อมไม่ใช่ลักษณะปกติของความสัมพันธ์นี้เลย สำหรับทางด้านตะวันตกของจีน เป็นอัฟกานิสถานและพวกชาติที่ประชากรแทบทั้งหมดเป็นชาวมุสลิมอีกหลายราย ชาติเหล่านี้ก็ถูกปักกิ่งจับตามองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นแหล่งที่มาของความไร้เสถียรภาพภายในเขตชายแดนของจีนซึ่งมีชาวมุสลิมอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ส่วนทางด้านใต้ของจีนก็คืออินเดีย ประเทศที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์หน้าใหม่ในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้เอง กล่าวโดยภาพรวม ปักกิ่งมองความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองและความมั่นคงที่กำลังเพิ่มพูนขึ้นทุกทีระหว่างวอชิงตัน, นิวเดลี, และโตเกียว ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นภัยคุกคามอันสาหัสร้ายแรงของตนในระยะยาว
สายสัมพันธ์การจับคู่กันในระหว่างอินเดีย, จีน, สหรัฐฯ, และปากีสถาน ที่กำลังพัฒนาบนผืนแผ่นดินใหญ่เอเชียอยู่ในตอนนี้ ออกจะมีอะไรประหลาดๆ อยู่ไม่ใช่น้อย ในด้านหนึ่ง สหรัฐฯถูกบีบบังคับจากสถานการณ์ที่วูบวาบเกิดการแปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็วในอัฟกานิสถาน ทำให้ยังต้องติดแหง็กอยู่ในการแต่งงานกับปากีสถาน ถึงแม้เป็นการสมรสซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ไม่มีความสุขสืบเนื่องจากมุ่งหวังผลประโยชน์มากกว่าเพราะมีความรักใคร่อะไรกัน ในเวลาเดียวกันนั้น วอชิงตันก็ยังพยายามตามเกี้ยวพาราสีอินเดียให้เข้ามาร่วมอยู่ในกลุ่มพันธมิตรที่มีจุดมุ่งหมายอันเป็นที่รู้ๆ กันในการต่อต้านจีน
แต่ความช่วยเหลือทางทหารมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่วอชิงตันทุ่มเทให้ปากีสถาน กลับกลายเป็นปัจจัยที่สร้างความยุ่งยากสับสนให้แก่ความพยายามในการตามจีบอินเดีย ในทำนองเดียวกันความเป็นพันธมิตรกันระหว่างจีนกับปากีสถานก็เป็นปัญหาที่สร้างความยุ่งยากสับสนให้แก่ความพยายามของแดนมังกรในการทาบทามแดนภารตะเช่นเดียวกัน ขณะที่ทางอินเดียนั้น เมื่อต้องเผชิญกับรักหลายเส้าไปเสียทั้งนั้นไม่ว่าจะหันไปทางไหน จึงกำลังคลางแคลงไม่ไว้วางใจมหาอำนาจใหญ่ทั้ง 2 ราย และมีความพยายามหาทางสร้างสันติภาพอันยั่งยืนกับปากีสถานให้สำเร็จ เพื่อให้ตนเองมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นในการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเชิงภูมิรัฐศาสตร์
เบรนดัน พี โอไรลีย์ เป็นนักเขียนและนักการศึกษาที่มาจากเมืองซีแอตเติล, สหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันพำนักอยู่ในจีน เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Transcendent Harmony
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
Ghosts of ‘62 can't rest in peace
By Brendan O'Reilly
30/10/2012
การต่อสู้นองเลือดในสนามรบที่อยู่สูงที่สุดในโลกได้ผ่านพ้นไปครึ่งศตวรรษแล้ว สงครามช่วงสั้นๆ ระหว่างจีนกับอินเดียคราวนั้นยังคงถูกจดจำเอาไว้ด้วยความขมขื่นกันอยู่ในอินเดีย ขณะที่สาธารณชนชาวจีนส่วนใหญ่ลืมเลือนกันไปหมดแล้ว จากการที่พื้นที่ชายแดนซึ่งสู้รบแย่งชิงกันคราวนั้นโดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นกรณีพิพาทกันอยู่จนถึงเวลานี้ และเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 รายนี้ก็ติดล็อกอยู่ในภาวะที่ต่างคนต่างสามารถสร้างความพินาศย่อยยับไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้น พื้นฐานอันอุดมสมบูรณ์พรักพร้อมสำหรับการปรับปรุงยกระดับสายสัมพันธ์ของประเทศทั้ง 2 ทั้งในทางเศรษฐกิจ, การเมือง, และวัฒนธรรม จึงยังคงถูกปล่อยทิ้งให้สูญเปล่า
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *
เมื่อ 5 ทศวรรษที่แล้ว กองทหารอินเดียและกองทหารจีนได้สาดกระสุนเข้าใส่กันและหลั่งเลือดอาบทาบนพื้นที่สมรภูมิซึ่งอยู่สูงที่สุดในโลก วาระครบรอบ 50 ปีของสงครามจีน-อินเดียคราวนั้น ไม่ค่อยได้รับความสนใจติดตามรายงานจากสื่อมวลชนระหว่างประเทศเท่าใดนัก เนื่องจากถูกบดบังจากวาระครบรอบ 50 ปีของวิกฤตการณ์ขีปนาวุธในคิวบา อย่างไรก็ตาม การสู้รบตรงชายแดนระหว่างจีนกับอินเดียเป็นระยะเวลาสั้นๆ ทว่าเต็มไปด้วยความขมขื่นครั้งนั้น ได้เกิดผลสืบเนื่องในเชิงภูมิรัฐศาสตร์อย่างใหญ่โตมโหฬาร ไม่เพียงเฉพาะสำหรับมหาอำนาจคู่สงครามทั้งสองเท่านั้น หากแต่สำหรับโลกทั้งโลกอีกด้วย
ความสัมพันธ์อันทรงความสำคัญอย่างยิ่งยวดระหว่างชาติที่มีประชากรมากที่สุดในโลก 2 รายนี้ ปัจจุบันยังคงถูกหลอกหลอนจากภูตผีของประวัติศาสตร์ และจากเงาพรายของสิ่งที่มีศักยภาพจะกลายเป็นความขัดแย้งขึ้นมาในอนาคต สภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ยังคงติดแน่นอยู่ในแบบแผนแห่งการเผชิญหน้ากัน แม้กระทั่งในขณะที่สายสัมพันธ์ทั้งทางเศรษฐกิจ, การเมือง, และวัฒนธรรมระหว่างจีนกับอินเดียกำลังกระเตื้องดีขึ้นเรื่อยๆ
เงื่อนไขต่างๆ ทางภูมิรัฐศาสตร์ระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นตัวนำไปสู่สงครามจีน-อินเดีย โดยส่วนใหญ่แล้วยังคงไม่ได้รับการแก้ไขคลี่คลาย จีนกับอินเดียยังคงพิพาทกันเกี่ยวกับพรมแดนร่วมของพวกเขา ซึ่งได้รับการปักปันแบ่งเขต (ภายใต้การข่มขู่บีบบังคับ) โดยอังกฤษและฝ่ายทิเบตเมื่อปี 1914 รัฐบาลจีนนั้นปฏิเสธไม่ยอมรับแนวพรมแดนนี้เนื่องจากเห็นว่าเป็นมรดกตกทอดของลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก และยังคงอ้างกรรมสิทธิ์เหนือรัฐอรุณาจัลประเทศ (Arunachal Pradesh) ของอินเดีย ขณะที่อินเดียก็ประกาศว่าตนเป็นเจ้าของดินแดนอัคไซ ชิน (Aksai Chin) ซึ่งฝ่ายจีนควบคุมอยู่ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ อินเดียยังคงให้ที่พักพิงหลบภัยและความสนับสนุนทางการเมืองแก่ ทะไลลามะ ผู้นำทางด้านจิตวิญญาณของทิเบต รัฐบาลจีนมองนโยบายเช่นนี้ว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของตน
สงครามจีน-อินเดียเมื่อ 50 ปีก่อน ยังคงได้รับการจดจำฝังแน่นด้วยความขมขื่นในอินเดีย การที่จีนประสบชัยชนะทางยุทธวิธีอย่างรวดเร็วและถัดจากนั้นก็ลงมือทำการหยุดยิงเพียงฝ่ายเดียวอย่างชนิดปราศจากความบีบคั้นจากกองทัพแดนภารตะ เป็นความอับอายที่ติดตรึงอยู่ในความทรงจำของชนชั้นที่มีบทบาททางการเมืองในอินเดีย เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีของสงครามคราวนั้นเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สื่อมวลชนอินเดียได้เสนอเรื่องราวรายละเอียด และบทบรรณาธิการเนื้อหาเผ็ดร้อนจำนวนมาก พูดถึงมรดกสิ่งตกทอดของศึกคราวนั้น
ในเดือนตุลาคมนั้นเอง รัฐมนตรีกลาโหม เอ เค แอนโทนี (A K Antony) ของอินเดีย ได้เดินทางไปเยือนชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณดังกล่าว และได้กล่าวปราศรัยพูดถึงทั้งความทรงจำเกี่ยวกับสงครามในอดีต และสถานการณ์ทางทหารในปัจจุบัน โดยระบุว่า “โครงสร้างพื้นฐานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังไม่ได้ดีถึงระดับที่จะทำให้พวกเราพออกพอใจ แต่มันก็ได้รับการปรับปรุงยกระดับขึ้นมามากทีเดียวเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต ... โครงสร้างพื้นฐาน, ทรัพย์สิน, และกำลังพล, ทุกสิ่งทุกอย่างต่างก็ได้รับการปรับปรุงยกระดับขึ้นมา อินเดียในปี 2012 ไม่ใช่อินเดียในยุคนั้นแล้ว เวลานี้เรามีความสามารถที่จะพิทักษ์ปกป้องประเทศชาติของเราทุกๆ ตารางนิ้ว” [1]
ช่วงเวลาเดียวกันนี้ ในประเทศจีนที่เป็นคู่ศึกอีกฝ่ายหนึ่ง สงครามคราวนั้นกลับถูกลืมเลือนไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว ผลการสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดยหนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ (Global Times) สื่อในเครือของเหรินหมินรึเป้า (พีเพิลเดลี่) กระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ปรากฏว่ามีชาวจีนวัยผู้ใหญ่ที่เป็นชาวเมืองซึ่งเข้าร่วมการสำรวจคราวนี้เพียง 15% เท่านั้นที่รู้เรื่องเกี่ยวกับศึกระหว่างจีนกับอินเดียเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว [2] หม่า ลี่ (Ma Li) แห่งสถาบันเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัยของประเทศจีน (China Institutes of Contemporary International Relations) เสนอคำอธิบายเกี่ยวกับช่องว่างทางด้านความทรงจำที่ห่างกันมากอย่างน่าประหลาดใจยิ่งเช่นนี้ เอาไว้ว่า “เปรียบเทียบกับชาวอินเดียผู้ซึ่งมีความประทับใจฝังแน่นลึกล้ำเกี่ยวกับสงครามคราวนั้นเพราะพวกเขาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้แล้ว ชาวจีนกลับแทบไม่มีสักกี่คนเลยที่รู้เรื่องเกี่ยวกับศึกที่เกิดขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อน” [3]
ยังน่าจะมีคำอธิบายอย่างอื่นๆ เพิ่มเติมอีก นอกเหนือจากการมีฐานะเป็นฝ่ายชนะ ที่เป็นเหตุผลทำให้ฝ่ายจีนไม่ค่อยได้จดจำสงครามคราวนั้น เป็นต้นว่า การชนะศึกที่เป็นการสู้รบกับชาติเอเชียอีกชาติหนึ่งซึ่งอันที่จริงก็เป็นเหยื่อของลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกมาด้วยกัน ย่อมเข้ากันไม่ได้ดีนักกับภาพลักษณ์ของตนเองซึ่งเป็นที่พึงปรารถนาของจีน, นอกจากนั้น ประชาชนจีนในปัจจุบันยังกำลังเน้นหนักให้ความสนใจกับปัญหาภายในประเทศและภาวะทางเศรษฐกิจมากกว่า, และประการสุดท้าย จิตสำนึกร่วมกันของชาวจีนยังคงถูกครอบครองฝังแน่นด้วยความทรงจำที่ยังคงมีชีวิตเต้นเร่าๆ ของสงครามต่อต้านญี่ปุ่น
**ภาวะแวดล้อมทางยุทธศาสตร์**
การเผชิญหน้ากันทางทหารที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ระหว่างอินเดียกับจีน ตลอดจนความเป็นปรปักษ์กันโดยองค์รวมระหว่างเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ 2 รายนี้ มีศูนย์กลางอยู่ที่ความวิตกกังวลในเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ทั้งคู่ต่างก็มีความกังวลห่วงใยคล้ายๆ กันอย่างน่าประหลาดใจทีเดียว สองประเทศต่างรู้สึกว่าตนเองถูกแวดล้อมไปด้วยพวกคู่แข่งขันที่เป็นศัตรู หรือเป็นคู่แข่งซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นศัตรู ถ้าเรามองดูแผนที่แม้เพียงคร่าวๆ ก็คงพอจะเข้าใจได้แล้วว่าทำไมสภาพทางภูมิศาสตร์ของอินเดียจึงทำให้ประเทศนี้มีความรู้สึกหวั่นไหวหวาดผวาเป็นพิเศษในเรื่องการถูกปิดล้อม กล่าวคือ ทางด้านตะวันตก ประเทศที่อยู่ติดกันคือปากีสถาน ซึ่งเป็นปรปักษ์ที่เดิมเป็นพี่น้องร่วมชาติกันมา และอินเดียได้เคยทำสงครามสู้รบด้วยมาแล้ว 3 ครั้ง ถึงแม้ปัจจุบันบริเวณพื้นที่พรมแดนระหว่างสองประเทศนี้อยู่ในภาวะที่เงียบสงบลงมาแล้ว แต่ทั้งอินเดียและปากีสถานก็ยังคงแข่งขันช่วงชิงกันเข้าควบคุมเหนือแคว้นแคชเมียร์ และประจันหน้ากันอย่างไม่มีการลดราวาศอกด้วยการขยายและสร้างอาวุธรุ่นใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้าสู่คลังแสงนิวเคลียร์ของแต่ละฝ่ายไม่ขาดสาย กลับมาที่แผนที่ของเรา ทางตอนเหนือของอินเดีย คือ จีน ประเทศที่กำลังมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นผู้ชนะในสงครามที่พวกเขารบกันอยู่ช่วงสั้นๆ เมื่อ 50 ปีก่อน ไม่เพียงเท่านั้น เรื่องที่ย่ำแย่ที่สุดก็คือ จีนกับปากีสถานได้กลายเป็นพันธมิตรกันอย่างเหนียวแน่นตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมา
มองจากทางฝ่ายแดนมังกรบ้าง จีนก็มีความรู้สึกว่ากำลังถูกบีบวงกระชับพื้นที่ในทำนองเดียวกันกับความหวั่นไหวของอินเดีย อเมริกาที่ปรับเปลี่ยนใช้ยุทธศาสตร์หันกลับมาเน้นหนักให้ความสำคัญกับเอเชีย ทำท่าจะจับมือกับทั้งญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์, และเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันต่างก็มีกรณีพิพาททางดินแดนอยู่กับแดนมังกร นี่แหละคือแรงกดดันบีบคั้นที่อยู่ทางปีกตะวันออกของจีน ทางด้านอื่นๆ เล่า ถึงแม้ความสัมพันธ์ในปัจจุบันระหว่างแดนมังกรกับรัสเซีย ยักษ์ใหญ่ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือ ถือได้ว่าอยู่ในสภาพที่เป็นมิตรต่อกันเป็นอย่างดี แต่ถ้าหากใช้ทัศนะมุมมองเชิงประวัติศาสตร์แล้ว นี่ย่อมไม่ใช่ลักษณะปกติของความสัมพันธ์นี้เลย สำหรับทางด้านตะวันตกของจีน เป็นอัฟกานิสถานและพวกชาติที่ประชากรแทบทั้งหมดเป็นชาวมุสลิมอีกหลายราย ชาติเหล่านี้ก็ถูกปักกิ่งจับตามองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นแหล่งที่มาของความไร้เสถียรภาพภายในเขตชายแดนของจีนซึ่งมีชาวมุสลิมอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ส่วนทางด้านใต้ของจีนก็คืออินเดีย ประเทศที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์หน้าใหม่ในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้เอง กล่าวโดยภาพรวม ปักกิ่งมองความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองและความมั่นคงที่กำลังเพิ่มพูนขึ้นทุกทีระหว่างวอชิงตัน, นิวเดลี, และโตเกียว ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นภัยคุกคามอันสาหัสร้ายแรงของตนในระยะยาว
สายสัมพันธ์การจับคู่กันในระหว่างอินเดีย, จีน, สหรัฐฯ, และปากีสถาน ที่กำลังพัฒนาบนผืนแผ่นดินใหญ่เอเชียอยู่ในตอนนี้ ออกจะมีอะไรประหลาดๆ อยู่ไม่ใช่น้อย ในด้านหนึ่ง สหรัฐฯถูกบีบบังคับจากสถานการณ์ที่วูบวาบเกิดการแปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็วในอัฟกานิสถาน ทำให้ยังต้องติดแหง็กอยู่ในการแต่งงานกับปากีสถาน ถึงแม้เป็นการสมรสซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ไม่มีความสุขสืบเนื่องจากมุ่งหวังผลประโยชน์มากกว่าเพราะมีความรักใคร่อะไรกัน ในเวลาเดียวกันนั้น วอชิงตันก็ยังพยายามตามเกี้ยวพาราสีอินเดียให้เข้ามาร่วมอยู่ในกลุ่มพันธมิตรที่มีจุดมุ่งหมายอันเป็นที่รู้ๆ กันในการต่อต้านจีน
แต่ความช่วยเหลือทางทหารมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่วอชิงตันทุ่มเทให้ปากีสถาน กลับกลายเป็นปัจจัยที่สร้างความยุ่งยากสับสนให้แก่ความพยายามในการตามจีบอินเดีย ในทำนองเดียวกันความเป็นพันธมิตรกันระหว่างจีนกับปากีสถานก็เป็นปัญหาที่สร้างความยุ่งยากสับสนให้แก่ความพยายามของแดนมังกรในการทาบทามแดนภารตะเช่นเดียวกัน ขณะที่ทางอินเดียนั้น เมื่อต้องเผชิญกับรักหลายเส้าไปเสียทั้งนั้นไม่ว่าจะหันไปทางไหน จึงกำลังคลางแคลงไม่ไว้วางใจมหาอำนาจใหญ่ทั้ง 2 ราย และมีความพยายามหาทางสร้างสันติภาพอันยั่งยืนกับปากีสถานให้สำเร็จ เพื่อให้ตนเองมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นในการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเชิงภูมิรัฐศาสตร์
เบรนดัน พี โอไรลีย์ เป็นนักเขียนและนักการศึกษาที่มาจากเมืองซีแอตเติล, สหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันพำนักอยู่ในจีน เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Transcendent Harmony
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)