เอเอฟพี - ประธานาธิบดี โมฮาเหม็ด มอร์ซี แห่งอียิปต์ ยอมยกเลิกกฤษฎีกาเพิ่มอำนาจตนเอง ซึ่งเป็นต้นเหตุให้ชาวอียิปต์ออกมาประท้วงอย่างรุนแรงนานหลายสัปดาห์ วานนี้(8) หลังกองทัพอียิปต์ยื่นคำขาดให้ประธานาธิบดีและฝ่ายต่อต้านต้องหันหน้าเจรจาเพื่อคลี่คลายวิกฤตการเมือง แต่ยังไม่แน่ว่าการล่าถอยของ มอร์ซี ในครั้งนี้จะทำให้ฝ่ายค้านพึงพอใจหรือไม่
มอร์ซี ซึ่งเป็นประธานาธิบดีสายอิสลามิสต์ ยอมยกเลิกกฤษฎีกาที่ให้ทุกการตัดสินใจของเขาอยู่เหนือการตรวจสอบของฝ่ายตุลาการ ซึ่งก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าเขาทำตัวเยี่ยง “เผด็จการ” ในขณะที่ มอร์ซี ยืนยันว่า กฤษฎีกาดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อปกป้องการปฏิรูปการเมืองในอียิปต์
“กฤษฎีกาดังกล่าวถือเป็นโฆษะตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” เซลิม อัล-อาวา นักการเมืองสายอิสลามิสต์ และที่ปรึกษาของ มอร์ซี แถลงต่อสื่อมวลชน หลังเสร็จสิ้นการประชุมระหว่างประธานาธิบดีและผู้นำกลุ่มการเมืองต่างๆ
อย่างไรก็ดี อาวา ยืนยันว่า การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันนั้น จะมีขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคมตามกำหนดเดิม เนื่องจากประธานาธิบดีมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องปฏิบัติตามนั้นโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ก็จะมีการจัดทำฉบับใหม่โดยให้ประชาชนเป็นผู้คัดเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญเอง ต่างจากฉบับปัจจุบันที่มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาแต่งตั้งขึ้น
ร่างรัฐธรรมนูญของ มอร์ซี ถูกวิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรี และหลายฝ่ายยังเกรงว่า รัฐบาลอิสลามิสต์จะนำการตีความกฎหมายแบบอิสลามเข้ามาใช้
กฤษฎีกาเพิ่มอำนาจแก่ประธานาธิบดีและการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็น 2 ปัจจัยหลักที่จุดวิกฤตการเมืองครั้งใหม่ในอียิปต์ ซึ่งเหตุจลาจลเมื่อวันพุธที่แล้ว(5)ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 7 ราย บาดเจ็บอีกหลายร้อยคน ขณะที่ฝ่ายต่อต้านประกาศจะไม่เจรจากับ มอร์ซี ตราบใดที่กฤษฎีกาและร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ถูกยกเลิกไป
อย่าางไรก็ตาม กองทัพอียิปต์ได้ออกแถลงการณ์เป็นครั้งแรกวานนี้(8) ให้รัฐบาลและฝ่ายต่อต้านหันหน้าเจรจา เพื่อมิให้อียิปต์ต้องกลับไปสู่ “อุโมงค์อันมืดมนและหายนะ” ซึ่งเป็นสิ่งที่กองทัพ “จะยอมไม่ได้”
กองทัพยืนยันว่า ทหารอยู่เคียงข้างประชาชนชาวอียิปต์เสมอ แต่ก็มีหน้าที่ต้องปกป้องสถาบันรัฐด้วย พร้อมขอให้ทุกฝ่ายแก้ไขปัญหาด้วย “กฎเกณฑ์ประชาธิปไตย”
ที่จตุรัสตะห์รีห์ซึ่งเป็นศูนย์กลางการประท้วง ข่าวการยกเลิกกฤษฎีกามิได้ทำให้ฝูงชนเฉลิมฉลอง หรือแสดงความเบิกบานใจแต่อย่างใด
“มันไม่ช่วยให้อะไรเปลี่ยนแปลงไปได้หรอก” โมฮัมเหม็ด ชากีร์ ผู้ประท้วงวัย 50 ปี เผย
ด้านกลุ่ม เนชันแนล ซาลเวชัน ฟรอนท์ ซึ่งต่อต้านมอร์ซี ยืนยันว่า พร้อมที่จะ “เจรจาอย่างจริงจัง” หาก มอร์ซี ยอมยกเลิกทั้งกฤษฎีกาและการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
เวย์น ไวท์ อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองอาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำสภานโยบายตะวันออกกลางของทำเนียบขาว ให้สัมภาษณ์ว่า การที่กองทัพยื่นมือเข้ามาจัดการปัญหาถือว่าเป็นกุญแจสำคัญ และหากผู้นำกองทัพอียิปต์เห็นว่ามีกระแสต่อต้าน มอร์ซี มากพอ “พวกเขาก็จะแจ้งกับประธานาธิบดีว่า กองทัพไม่อาจรักษาความสงบเรียบร้อยได้อีกต่อไป และประธานาธิบดีควรจะยอมประนีประนอมกับฝ่ายต่อต้านอย่างจริงจัง”