xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันลง-ทองคำดิ่ง วิตกหน้าผาการคลังสหรัฐฯ หุ้นมะกันปิดบวก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ราคาน้ำมันและทองคำวานนี้ (28) ขยับลงแรงหลังนักลงทุนกังวลต่อการเจรจาตัดลบงบประมาณของอเมริกา อย่างไรก็ตาม วอลล์สตรีทดีดกลับขึ้นไปปิดในแดนบวก หลังมีความเห็นจากฝั่งรีพับลิกัน ถึงความเป็นไปได้ที่จะประนีประนอม

สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ งวดส่งมอบเดือนมกราคม ลดลง 69 เซ็นต์ ปิดที่ 86.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน ลดลง 36 เซ็นต์ ปิดที่ 109.51 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

“ตลาดปิโตรเลียมปิดลบ ท่ามกลางความกังวลของนักลงทุนต่อแผนลดหนี้กรีซที่ยังปราศจากรายละเอียดที่ชัดเจน ขณะเดียวกันก็มีความวิตกว่าสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ อาจไม่สามารถเห็นพ้องตัดลดงบประมาณเพื่อหลักเลี่ยงวิกฤตหน้าผาการคลัง” ทิม อีแวนส์ นักวิเคราะห์จากซิตี ฟิวเจอร์ ระบุ

ความเห็นของนักวิเคราะห์รายนี้มีออกมา พร้อมๆ กับที่เมื่อวันพุธ (28) ประธานาธิบดีบารัค โอบมา เรียกร้อง ส.ส.ของพรรครีพับลิกัน บรรลุข้อตกลงตัดลดงบประมาณกันให้ได้ก่อนคริสต์มาส เพื่อหลีกเลี่ยงการตัดรายจ่ายและขึ้นภาษีโดยอัตโนมัติในช่วงสิ้นปี ซึ่งเหล่านักเศรษฐศาสตร์เตือนว่ามันอาจฉุดเศรษฐกิจของอเมริกากลับสู่ภาวะถดถอย

ปัจจัยข้างต้นประกอบกับความกังวลต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกืจในยุโรป กระตุ้นให้นักลงทุนเทขายทำคำออกมา และวานนี้ (28) ดิ่งลงอย่างแรง โดยราคาทองคำตลาดโคเมกซ์ของสหรัฐฯ งวดส่งมอบเดือนธันวาคม ลดลง 25.80 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,716.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์

อย่างไรก็ตาม ความกังวลดังกล่าวผ่อนคลายลงไป หลัง จอห์น โบห์เนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรครีพับลิกัน แย้มถึงความเป็นไปได้ในการประนีประนอม เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตหน้าผาการคลัง และความเห็นนี้ก็ผลักให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ แกว่งตัวขึ้นไปปิดในแดนบวก

ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 106.36 จุด (0.83 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 12,984.49 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 23.99 จุด (0.81 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,991.77 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 10.91 จุด (0.78 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,409.85 จุด

เอสแอนด์พีดีดขึ้นจากแกว่งตัวอยู่ในแดนลบร้อยละ 1 มาปิดบวกได้มากกว่า 20 จุด หลังจาก โบห์เนอร์ มองในแง่ดีถึงการเจรจาประนีประนอมระหว่างรีพับลิกันกับเดโมแครต ต่อข้อตกลงตัดลดงบประมาณ ขณะที่ โอบามา ก็เสริมความรู้สึกดีๆ โดยบอกว่าหวังบรรลุข้อตกลงกันในช่วง 4 สัปดาห์ข้างหน้านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น