xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตอียิปต์ลามต่อหลังคนนับหมื่นชุมนุมต้านผู้นำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชาชนอียิปต์หลายหมื่นคนออกมาชุมนุมกันที่จัตุรัสตอห์รีร์ ใจกลางกรุงไคโรเมื่อคืนวันอังคาร(27) เพื่อคัดค้านประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด มอร์ซี ที่ออกกฤษฎีเพิ่มอำนาจให้ตนเองอย่างกว้างขวางไม่ผิดแผกจากเผด็จการ
เอเอฟพี/เอเจนซี - อียิปต์เมื่อวันพุธ (28) ยิ่งถลำลงไปในวิกฤตทางการเมืองครั้งเลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่ โมฮัมเหม็ด มอร์ซี นักการเมืองแนวทางอิสลามิสต์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ของฝ่ายค้านซึ่งลุกลามไปทั่วประเทศในวันอังคาร (27) ทำท่าบานปลายยืดเยื้อ ขณะที่วอชิงตันจับตาใกล้ชิด พร้อมเตือนไคโรกำลังนำเงินกู้หลักพันล้านดอลลาร์มาเสี่ยง หากออกนอกเส้นทางปฏิรูปประชาธิปไตย

ในช่วงเช้าวันพุธ ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาเข้าไปที่จัตุรัสตอห์รีร์ ของกรุงไคโร ซึ่งมีผู้ประท้วงหลายร้อยคนตั้งเต็นท์พักแรมกันอยู่ ภายหลังเข้าร่วมการชุมนุมครั้งใหญ่เพื่อประณามการยึดอำนาจวางตัวเป็นเผด็จการของ มอร์ซี

ก่อนหน้านี้ บริเวณรอบนอกของจัตุรัสใหญ่ใจกลางเมืองหลวงของประเทศแห่งนี้ ก็กลายเป็นสมรภูมิของปะทะกันอยู่เป็นระยะๆ นับเป็นวันที่ 9 แล้ว โดยที่ในตอนเริ่มต้นทีเดียวพวกผู้ประท้วงได้จัดการชุมนุมขึ้นที่นี่เพื่อรำลึกวาระครบรอบ 1 ปีของการเผชิญหน้าอย่างนองเลือดกับพวกตำรวจ

นอกจากที่กลางกรุงไคโรแล้ว ยังเกิดการปะทะกันอย่างดุเดือดตลอดทั้งคืนวันอังคารระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านมอร์ซี ในเมืองมาฮัลลา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ และที่เมืองปอร์ตซาอิด เมืองใหญ่ตรงคลองสุเอซ
การปะทะอย่างดุเดือดตลอดคืนวันอังคาร ระหว่างกลุ่มสนับสนุนกับกลุ่มต่อต้านประธานาธิบดีอียิปต์
แหล่งข่าวทางการแพทย์เผยว่า การปะทะกันที่มาฮัลลา มีผู้บาดเจ็บ 132 คน ส่วนที่ปอร์ตซาอิด 27 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงรายหนึ่งบอกว่า เมื่อย่างเข้าเช้าวันพุธ สถานการณ์ในทั้งสองเมืองได้กลับคืนสู่ความสงบ

ก่อนหน้านี้ในวันอังคาร (27) มีการชุมนุมประท้วงขนาดมหึมาที่มีผู้เข้าร่วมหลายหมื่นคนทั้งในจัตุรุสตอห์รีร์ และที่เมืองอเล็กซานเดีย เมืองใหญ่ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตลอดจนตามหัวเมืองอื่นๆ โดยที่ใน 27 จังหวัดทั้งหมดทั่วอียิปต์นั้นส่วนใหญ่ทีเดียวมีการจัดชุมนุมประท้วง ทำให้การชุมนุมคราวนี้กลายเป็นการชุมนุมต่อต้านมอร์ซีครั้งใหญ่ที่สุด รวมทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของกลุ่มต่างๆ ที่ต่อต้านพรรคการเมืองอิสลามิสต์ที่เป็นผู้ปกครองประเทศในปัจจุบัน

มีรายงานว่า ในวันอังคาร พวกต่อต้านรัฐบาลได้เข้าโจมตีสำนักงานระดับภูมิภาคของขบวนการภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ซึ่งพรรคการเมืองของมอร์ซีสังกัดอยู่ รวมทั้งหมด 3 แห่ง ทั้งนี้นับแต่การปะทะเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันศุกร์(23)ที่ผ่านมา ทั่วประเทศมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 100 คนทั่วประเทศ และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 คน

แม้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมประกาศงดชุมนุมสนับสนุนประธานาธิบดีในกรุงไคโรเมื่อวันอังคาร เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับฝ่ายต่อต้าน แต่ล่าสุด มาหมุด กอซลัน สมาชิกอาวุโสและโฆษกของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ได้บอกกับเอเอฟพีว่า กลุ่มของเขาตลอดจนกลุ่มอิสลามิสต์อื่นๆ จะจัดการชุมนุมสนับสนุนมอร์ซีร์ขึ้นในวันเสาร์(1ธ.ค.)นี้

ในอีกด้านหนึ่ง ที่วอชิงตัน วิกตอเรีย นูแลนด์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯแถลงว่า กำลังจับตาสถานการณ์ในอียิปต์อย่างใกล้ชิด พร้อมเตือนไคโรว่า กำลังเดิมพันด้วยเงินช่วยเหลือก้อนใหญ่จากนานาชาติ หากออกนอกเส้นทางการปฏิรูปประชาธิปไตย
ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาเข้าไปที่จัตุรัสตอห์รีร์ กลางกรุงไคโร ระหว่างที่ผู้ประท้วงรวมตัวชุมนุมครั้งใหญ่เพื่อประณามการยึดอำนาจวางตัวเป็นเผด็จการของ มอร์ซี
นูแลนด์ย้ำว่า ต้องการเห็นอียิปต์สานต่อการปฏิรูปเพื่อให้มั่นใจว่า เงินช่วยเหลือที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กำลังจะอัดฉีดให้ จะส่งเสริมการสร้างเสถียรภาพและฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจที่อิงกับหลักการตลาดอย่างแท้จริง

ด้านไอเอ็มเอฟแถลงว่า อียิปต์จะยังคงได้รับเงินกู้ 4,800 ล้านดอลลาร์ที่ตกลงกันสัปดาห์ที่แล้ว ตราบที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญในพันธสัญญาการปฏิรูป

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนสถานเอกอัครราชทูตอเมริกันในไคโร ออกมาแสดงจุดยืนชัดเจนกว่า ด้วยข้อความในทวิตเตอร์ที่ระบุว่า “คนอียิปต์แสดงเจตนารมณ์เด่นชัดตั้งแต่ในการปฏิวัติเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมาว่า พอกันทีผู้นำเผด็จการ”

ในส่วนของ บัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ เผยว่า จะเรียกร้องให้มอร์ซีคลี่คลายความขัดแย้งนี้อย่างสันติ ขณะที่กลุ่มฮิวแมน ไรต์ วอตช์ในนิวยอร์ก ประณามว่า กฤษฎีกาให้อำนาจตัวเองของมอร์ซีนั้น ทำให้เขามีอำนาจมากกว่ารัฐบาลทหารชั่วคราวชุดก่อนเสียอีก

ทั้งนี้ กฤษฎีกาดังกล่าวซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ฝ่ายค้านพากันเดือดแค้น คือกฤษฎีกาที่มอร์ซีประกาศออกมาในวันพฤหัสบดี (22) เพิ่มอำนาจตนเองในการออกกฎหมายหรือทำการตัดสินใจใดๆ โดยที่ไม่มีใครสามารถอุทธรณ์ได้ อำนาจเช่นนี้ทำให้พวกผู้พิพากษาไม่พอใจและพากันประท้วงหยุดทำงาน เพราะเห็นว่าเป็นการก้าวล่วงอำนาจในการตรวจสอบของฝ่ายตุลาการ

กฤษฎีกายังห้ามศาลยุบคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยที่ก่อนหน้านี้บรรดาผู้นำเสรีนิยม ฝ่ายซ้าย และกลุ่มชาวคริสต์ ต่างพากันถอนตัวจากคณะกรรมการชุดนี้ที่มีกลุ่มอิสลามิสต์ยึดครองผูกขาด เนื่องจากเห็นว่า ไม่ใช่ตัวแทนของชาวอียิปต์ทั้งหมดอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น